การตัดสินใจประกาศคำสั่งคสช.ฉบับที่ 30/2560 เพื่อ”ปลดล็อก” โครงการรถไฟความเร็วสูง

เหมือนกับเป็นไปตาม “ธง” ที่ “กำหนด”

เป็นธงอันสำแดงจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก่อนเดินทางไปจีน

เนื่องจากโครงการนี้”ยืดเยื้อ” มาอย่างยาวนาน

นับจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ก็ยืดเยื้อและยาวนาน 3 ปี

เป็น 3 ปีซึ่งส่อเค้าว่าได้เพียง 3.5 กิโลเมตร

เป็น 3 ปีที่กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบในการเจรจากับฝ่ายของจีนโดยที่ไม่สามารถ “ตกลง”อะไรได้เลย

ทั้งๆที่เจรจาต่อเนื่องถึง 18 ครั้ง

 

จากนี้จึงเห็นได้ว่า คำสั่งคสช.ฉบับที่ 30/2560 นี้เองที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะถือไปเมื่อนั่งโต๊ะเจรจากับจีน

อาจทำให้การเจรจามีบรรยากาศดีขึ้น

หากประเมินจากความเชื่อมั่นของ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

เดือนกรกฎาคม 2560 น่าจะได้เซ็น”สัญญา”

นั่นก็คือ สัญญาฉบับที่ 1 ว่าด้วยการจ้างออกแบบ ซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ยุค พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ก็ตกลงกันไม่ได้

แม้เมื่อเปลี่ยนจาก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง มาเป็น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ในเดือนสิงหาคม 2558 ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้

จึงจำเป็นต้องงัด”มาตรา 44″มาเป็น”อาวุธ”

 

พลันที่มีคำสั่งคสช.ฉบับที่ 30/2560 พลันที่คำสั่งนี้ดำเนินไปภายใต้อำนาจของมาตรา 44

หลายฝ่ายมองเห็น “โอกาส”

เพราะเท่ากับว่า “คสช.” ลงมาเร่งรัดและ”ปลดล็อก”ด้วยตนเอง ทุกอย่างน่าจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น

ประเด็นอยู่ที่ว่า เป็นความราบรื่นของฝ่ายใด

พลันที่มีคำสั่งคสช.ฉบับที่ 30/2560 ประกาศและบังคับใช้บรรยากาศในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็หวนกลับมาอีก

เพียงแต่กลับมาในลักษณะ”ย้อนศร”เท่านั้นเอง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน