เป็นข่าวใหญ่ครึกโครม

กรณีเจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้าล็อกตัวชายอายุ 62 ปี อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้า

หลังใช้เวลา “แกะรอย” นานเกือบ 1 เดือน

กระทั่งพบพยานหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นผู้ต้องสงสัย ก่อเหตุวางระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ทั้งยังอาจเชื่อมโยงไปถึง “ขบวนการ” ก่อเหตุอีก 2 ครั้งก่อนนั้นคือ ระเบิดบริเวณหน้ากองสลากเก่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน และหน้าโรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม

อย่างที่สังคมรับรู้ ทั้ง 3 เหตุการณ์ดังกล่าวมีการตั้งประเด็นตั้งแต่แรกว่า ไม่น่าใช่ระเบิดก่อการร้าย หรือเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่มีจุดมุ่งหมายสร้างสถานการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมือง

ท้าทายอำนาจรัฐบาลทหารโดยตรง

คล้ายกับเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเมื่อปี 2550 และปี 2558 บริเวณทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าห้างสรรพสินค้าพารากอน

เนื่องจากระเบิดลูกแรกหน้ากองสลากเก่าเกิดขึ้นช่วงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นทางการ ลูกที่สอง หน้าโรงละครแห่งชาติ เกิดขึ้นช่วงเตรียมแถลงผลงาน คสช.ครบ 3 ปี

ส่วนลูกที่สาม ชัดเจนมากที่สุด

คนร้ายไม่ได้แค่เลือกฤกษ์ยามลงมือตรงกับวันครบรอบ 3 ปีการรัฐประหารของคสช.เท่านั้น

ยังเลือกเอา “ห้องวงษ์สุวรรณ” ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พื้นที่ภายใต้การดูแลของทหาร เป็นเป้าหมายอีกด้วย

ในตอนนั้นถึงแม้จะมีการประเมินในเบื้องต้นว่า ระเบิดทั้ง 3 ลูกมีสาเหตุแรงจูงใจมาจากเรื่อง “การเมือง” ก็จริง แต่ก็เป็นเพียงการคาดเดาลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยัน

ทำให้เกิดการปล่อยข่าวคาดเดาไปต่างๆ นานา

อาทิ เป็นฝีมือลูกน้องอดีตนายทหารยศ “พลเอก” แห่งกองทัพบก ทั้งชื่ออักษรย่อ พ.พาน และ ช.ช้าง ที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล คสช.

จนต่อมา พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี และ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ต่างออกมาเปิดใจให้สัมภาษณ์ ปฏิเสธชื่อย่อ พ.พาน และ ช.ช้าง ไม่ใช่ตนเองแน่นอน และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระเบิดทั้ง 3 ลูก

อย่างไรก็ตาม ชื่อที่เปิดออกมาแล้วเกรียวกราวมากที่สุด กลับเป็นชื่อของนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ แกนนำเสื้อแดง จ.ปทุมธานี ผู้ต้องหาคดี 112 ที่หลบหนีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

นั่นก็เพราะคนพูดชื่อ “โกตี๋” ขึ้นมาเป็นคนแรกว่าอยู่ในข่ายต้องสงสัย คือ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกและเลขาธิการ คสช.

ทุกอย่างจึงเริ่มเห็นเค้าลางๆ ตั้งแต่ตอนนั้น ว่าจุดหมายปลายทางคดีระเบิดอยู่ตรงไหน

กล่าวกันว่าเหตุระเบิดกรุง 3 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกันระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม

ส่งผลสะเทือนทำให้การเมืองเกิดการแกว่งตัวสูง โดยเฉพาะเกี่ยวกับโรดแม็ปเลือกตั้ง

“สิ่งสำคัญที่อยากให้ทุกคนคำนึงถึงคือ ถ้าบ้านเมืองยังเป็นอยู่แบบนี้ ทั้งการวางระเบิด การใช้อาวุธสงคราม การทำให้เกิดความขัดแย้งในภาคประชาชน แล้วมีปัญหาเหมือนเดิมที่ผ่านมา แล้วจะเลือกตั้งกันได้หรือไม่”

รัฐธรรมนูญ กฎหมายว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น ระยะเวลาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ก็ยังเป็นไปตามนั้นทุกอย่าง เว้นแต่บ้านเมืองไม่สงบสุข” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ระบุ

ต่อมามีการสรุปเหลือแค่ว่า “ถ้าไม่สงบ ไม่เลือกตั้ง” ประโยคสั้นๆ แต่ก่อแรงกระเพื่อมทางการเมืองไม่น้อย

ฝ่ายการเมืองพรรคเพื่อไทยมองว่า รัฐบาล คสช.กำลังจับแพะชนแกะ อาศัยสถานการณ์ระเบิดป่วนกรุง ที่ยังมั่วๆ ไม่รู้ว่าเป็นฝีมือการเมืองกลุ่มใดกันแน่

มาสร้างเป็นเงื่อนไขไม่ให้มีเลือกตั้ง

ข้อสังเกตดังกล่าวยังถูกนำมาใช้กับ 4 คำถามของพล.อ.ประยุทธ์ ในเวลาต่อมาอีกด้วย ว่าอาจมีความพยายามวางกลไก “ชี้นำ” ให้คำตอบออกมาในทิศทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโรดแม็ป

แต่ถ้าวัดจากบรรยากาศเรื่อยๆ มาเรียงๆ ในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดให้ประชาชนมายื่นตอบแบบสอบคำถาม ที่ศูนย์ดำรงธรรมทั้งในส่วนกลางและแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงอีก 50 สำนักงานเขต ในกรุงเทพมหานคร

ก็ดูเหมือนไม่ง่ายดายเสียแล้ว

การพิสูจน์ได้ว่าคดีระเบิดกรุงทั้ง 3 ครั้งมีกลุ่มการเมือง “เจ้าเก่า” ขาประจำอยู่เบื้องหลัง เหมือนที่มีการปักธงชี้เป้าไว้ในตอนแรก จึงเป็นจังหวะโอกาสสำคัญ

อาจช่วยให้รัฐบาล คสช.กลับมาเป็นฝ่ายครองเกม

หลังจากเพลี่ยงพล้ำเสียรังวัดกรณีมีทหารนอกแถวเข้าไปพัวพันกับขบวนการลักลอบค้าอาวุธถึง 2 คดีซ้อน ตกเป็นข่าวอื้อฉาว

กระทบภาพลักษณ์กองทัพอย่างรุนแรง

ต้องจับตาว่า หลังการจับกุม “ลุงมือระเบิด” จะเป็นตัวเร่งอุณหภูมิการเมืองให้ร้อนแรงไปถึงจุดใด

ขณะที่ปฏิบัติการทุบพรรคการเมืองบางพรรค ผ่านการออกแบบบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และร่างกฎหมายลูกที่กำลังจะออกมายังใส่เกียร์เดินหน้าต่อเนื่อง

รวมถึงการใช้อภินิหารทางกฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นว่าเล่นกับอดีตส.ส.และนักการเมืองที่กระด้างกระเดื่องต่อผู้มีอำนาจ

ไม่นับรวมคดีโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของแฟนเพจ เฟซบุ๊ก “6 ล้านไลก์”

บางคดีมีการตั้งเรื่องมาตั้งแต่ยุครัฐบาลรัฐประหาร 2549 ก็นำกลับมาปัดฝุ่นใหม่ ผลักดันเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในช่วงนี้ จนถูกมองว่าต้องการใช้เป็นเครื่องต่อรองเพื่อ “ปิดปาก” ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์

ซ้ำเติมสถานการณ์ “ขาลง”

ทั้งหลายทั้งปวงจึงเหมือนแม่น้ำหลายสายที่ไหลมาบรรจบตรงแกนกลาง คือการขุดรากถอนโคนพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นซาก หรืออย่างน้อยต้องทำให้อ่อนแอจนไม่เหลือสภาพต่อกร

ขัดขวางการกลับเข้าสู่อำนาจของ “คนนอก”

แน่นอนว่าหลักฐานอุปกรณ์ประกอบระเบิดไปป์บอมบ์ ที่ทหารตรวจค้นเจอในแหล่งพำนักของ “ลุงมือระเบิด” จะเป็นวัตถุพยานมัดแน่นจนดิ้นไม่หลุด

รวมถึงคำรับสารภาพของผู้ต้องหาเองว่าเกลียดชังทหาร มาตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553

แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตในโลกโซเชี่ยล ทำไมก่อเหตุมาแล้วนานเกือบเดือน แต่ยังเก็บหลักฐานเอาไว้เต็มบ้าน โดยเฉพาะระเบิดไปป์บอมบ์พร้อมใช้งาน 4 ลูก

เป็นประเด็นที่ฝ่ายตำรวจต้องชี้แจงให้กระจ่าง

เชื่อได้ว่างานนี้ไม่ใช่การ “จับแพะ” แน่นอน เพราะการจับแพะ ย่อมหมายถึงคนร้าย “ตัวจริง” ยังอยู่ และพร้อมก่อเหตุระเบิดครั้งใหม่ได้ตลอดเวลา

แต่กับสายคล้องบัตรพนักงาน และนาฬิกาติดผนังที่มีรูป “คนแดนไกล” ติดอยู่

หากมองอีกแง่หนึ่งก็เป็นอะไรที่มีลักษณะเจาะจงมากเกินไป จนหลายคนอดสงสัยไม่ได้

อะไรจะ “ชัด” ขนาดนั้น

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ภายใต้การสร้างความปรองดองที่ยังอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริง

สังคมไทยเคยได้สัมผัสกับ “อภินิหารภาษีหุ้นชินคอร์ป” มาแล้ว

ไม่แน่ ครั้งนี้หากจะปรากฏ “อภินิหารคดีระเบิด” ให้เห็นอีกสักที

ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจสักเท่าไหร่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน