อุ้มการบินไทย

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

อุ้มการบินไทย – แผนช่วยเหลือการบินไทย สายการบินของประเทศไทย เป็นไปตามกระแสของวงการธุรกิจการบินที่สายการบินแห่งชาติของนานาประเทศต่างขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19

การเดินทางทางอากาศหยุดชะงักไปทั่วโลก พนักงานของสายการบินต้องหยุดงาน เครื่องบินต้องจอดนิ่งบนพื้นที่ที่มีราคาที่ต้องจ่าย โดยไม่แน่ชัดว่าจะกลับมาดำเนินกิจการปกติได้เมื่อใด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่การบินไทยอาจแตกต่างจากสายการบินชั้นนำของโลกอื่นๆ คือมีปัญหาทางการเงินและการบริหารอยู่ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด

สิ่งที่คนทั่วไปได้ยินช่วงหลายปีที่ ผ่านมาคือ กิจการของการบินไทยขาดทุน เปลี่ยนผู้บริหารบ่อย แต่ยังผ่าตัดองค์กรไม่ได้

 

ข้อมูลงบการเงินปี 2562 ของ บมจ.การบินไทย มีหนี้สินของบริษัทและบริษัทย่อย 244,899 ล้านบาท และขาดทุนหลักหมื่นล้าน ต้องอาศัยกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมเข้าไปดูแล

ปี 2563 เมื่อการบินไทยประสบปัญหาใหญ่จากโควิด สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. เห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าไป ช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท จากที่ขอมา 70,000 ล้านบาท

ตามรายละเอียดที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ขั้นตอนการกู้จะเริ่มได้ภายในเดือนพ.ค.2563 เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับบริษัทจนถึงสิ้นปี 2563

ขณะเดียวกันการบินไทยต้องเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ในประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศ รวมถึงทำแผนปรับลดค่าใช้จ่ายลง

 

ที่ประชุมคนร. สรุปว่าความช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาระยะสั้นและยาวของการบินไทยได้ รวมถึงให้การบินไทยช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ส่วนระยะต่อไปที่ต้องทำไปพร้อมๆ กันคือการปรับโครงสร้าง และการคัดเลือกบุคลากรมาช่วยบริหารการบินไทยให้อยู่รอดได้

การใช้เงินของรัฐเข้าไปอุ้มกิจการของการบินไทย ในภาวะที่ประชาชนวงกว้างยังไม่ได้รับการเยียวยาทั่วถึง จึงต้องรอบคอบระมัดระวังอย่างมาก

เพราะการอุ้มหมายถึงการใช้เงินของรัฐที่ได้จากประชาชน รัฐบาลจึงควรฟังเสียงประชาชนด้วย และฟังให้ดีๆ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน