FootNote:ยุทธการโอบอุ้มการบินไทย ปฎิบัติการแบบเลื่อยขี้เลื่อย

กรณี “การบินไทย” กำลังจะกลายเป็นกรณี “เปรียบเทียบ” ต่อแนว ทางในการดำเนินนโยบาย “อุ้ม” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยจำนวนเงิน 50,000 ล้านบาท

ไม่เพียงแต่จะเปรียบเทียบกับแนวทางในการบริหารจัดการกับรถเมล์ 203 ของข.ส.ม.ก.เท่านั้น

หากแต่ยังเปรียบเทียบอย่างแหลมคมเป็นพิเศษ ต่อผลพวงและแรงสะเทือนอันกำลังเกิดขึ้นกับโครงการ “เราจะไม่ทิ้งกัน” ของกระทรวงการคลัง ณ วันนี้

มิใช่จะพิจารณาจากจำนวนเงิน 50,000 ล้านบาท หากแต่อยู่ที่การประเมินคุณค่า ความหมาย และสภาพความเป็นจริงของ “การบินไทย”

นั่นก็คือ การจัดวาระ การกำหนดความสำคัญของรัฐบาล

ตัวอย่างของโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” จะประเมินจากปัจจัยอะไรเป็นหลัก คำตอบก็เห็นอยู่ทนโท่แล้ว จากภาพของประชาชนที่ไปชุมนุมกันหน้ากระทรวงการคลัง

และท่าทีอันสะท้อนความรู้สึก สะท้อนการบริหารจัดการของคนในกระทรวงการคลังว่าเป็นอย่างไร

ที่เคยคาดหมายว่าจะช่วย 5,000 บาทเพียงเดือนเดียว ก็ขยายเป็น 3 เดือน ที่เคยคาดหมายว่าจะช่วยเพียง 3 ล้านแล้วจำนวนก็ขยายเป็นกว่า 20 ล้านคน

ทั้งหมดอาจสะท้อนถึงความไม่แน่นอน ความไหลเลื่อนและแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แต่ความจริงที่ซ่อนอยู่มากยิ่งกว่านั้นอยู่ที่การตระเตรียม วางแผนในเชิงบริหารจัดการมากกว่า

จากโครงการ”เราไม่ทิ้งกัน”เมื่อมาถึงการอนุมัติงบประมาณเพื่ออุ้ม”การบินไทย”ก็มีความแจ่มชัด

ทุกอย่างดำเนินไปในกระสวนแบบ”เลื่อยขี้เลื่อย”

นอกเหนือจากคำว่า “สายการบินแห่งชาติ” แล้วไม่มีใครทราบว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่ภายในโครงสร้างแห่ง”การบินไทย”

เพราะในความเป็นจริงคือ”ขาดทุน”อย่างต่อเนื่อง

มิได้ขาดทุนอันเนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ ระบาดของไวรัสที่ทุกสายการบินล้วนประสบ หากแต่เป็นการขาดทุนตั้งแต่ก่อนสถานการณ์ไวรัสมาแล้ว

เป็นการขาดทุนโดยนักบริหารจัดการไม่ว่าจากหน่วยราชการ ไม่ว่าจากภาคเศรษฐกิจล้วนยอมรับตรงกันว่ายากแก่การเยียวยาเพราะเป็นการขาดทุนจากภายใน

เป็นความเสื่อมทรามเน่าเฟะโดย “การบินไทย” เองโดยที่เป็นไปได้ว่าการทุ่มเงินอีก 50,000 ล้านบาทแทบจะไร้ประโยชน์

นอกจากจะเป็นบทประจานความล้มเหลวอีกบทหนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน