FootNote : ปัญหา ภายใน พลังประชารัฐ ปม “การเมือง” ภายในรัฐบาล

พลันที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้าพบแกนนำกลุ่ม 4 ยอดกุมารและกลุ่มสามมิตร พร้อมกับรับอาสา “เคลียร์” ความขัดแย้งภายใน พรรคพลังประชารัฐ
การเมืองรอบใหม่ “ภายใน” พรรคพลังประชารัฐก็มิได้สิ้นสุดหยุดลงตามคำประกาศจาก 3 ป.
ไม่ว่าจะเป็นเสียงอันมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็นเสียงอันมาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าจะสำทับตามมาโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
เพราะว่าความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐเป็นเรื่องอันเกี่ยวกับการจัดสรรแบ่งปันตำแหน่งในทางการเมืองที่เป็นปัญ หามาตั้งแต่ก่อนเดือนมิถุนายน 2562
สถานการณ์ “โควิด” เป็นเพียงจังหวะเวลาอันเหมาะสมเท่านั้น

ความเหมาะสมในที่นี้เนื่องจากเป้าใหญ่อันสะท้อนความผิดพลาด และล้มเหลวในการบริหารจัดการกับปัญหา คือ โครงการ “เราจะไม่ทิ้งกัน” อันเป็นงานของกระทรวงการคลัง
เจ้ากระทรวงการคลังก็คือ นายอุตตม สาวนายน ซึ่งดำรงตำ แหน่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอยู่ด้วย
ความจริง การวิพากษ์วิจารณ์ต่อตำแหน่งหัวหน้าพรรค ต่อตำแหน่งเลขาธิการพรรค มิได้เพิ่งเกิดขึ้นหากแต่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อน และดังระงมในห้วงแห่งการจัดสรรตำแหน่งในรัฐบาล
ปัญหาสำคัญก็คือ หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ดำรงอยู่ในพรรคลักษณะตีนลอย ไม่มีกลุ่ม ไม่มี ส.ส.จึงไม่สามารถให้คุณและให้โทษได้ตามสภาพความเคยชินในทางการเมือง
จึงทุกครั้งที่เกิดปัญหาและทำให้รัฐบาลตกเป็นเป้าทางการเมืองจุดอ่อนนี้ของหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ก็จะถูกกระพือเป็นเรื่องใหญ่
ร้อนถึงคนระดับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ต้องลงมาจัดการเอง

ปัญหาอันเกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐจึงแทบมิได้เป็นความ ลึกลับอันมากด้วยความซับซ้อนอะไรเลย
เพราะ นายอุตตม สาวนายน เองก็ออกมายอมรับ
เพราะนายทหารระดับ พล.อ.ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว.ก็ออกมายอมรับว่าทำไปเพื่อ “นาย
รู้กันอยู่จนกลายเป็น “ประเด็น” ร้อนในทางการเมืองว่าเท่ากับ เป็นการแทรกแซงพรรคการเมืองกระทั่งอาจนำไปสู่การยุบพรรค
ปฏิกิริยาจาก ส.ว.ด้วยกันเอง ปฏิกิริยาจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านก็เด่นชัดเป็นอย่างยิ่ง
นี่คือการเมืองเพียงแต่เป็นการเมืองของรัฐบาลเท่านั้นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน