คอลัมน์ รายงานพิเศษ

ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ผ่าน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 3 และอยู่ระหว่างส่งให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาใน 10 วัน หากมีความเห็นแย้งก็ส่งกลับสนช.ตั้งกรรมาธิการร่วม ถ้าไม่มีความเห็นแย้งก็ส่งนายกฯ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

ประเด็นหลักคือกำหนดทุนประเดิมตั้งพรรค 1 ล้าน ผู้ก่อตั้งลงขัน 1 พัน-5 หมื่น ส่วนการส่งผู้สมัครระบบเขตหรือระบบบัญชีรายชื่อ ต้องผ่านความเห็นชอบจากสาขาพรรคหรือผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดหรือระบบไพรมารี่โหวต

แกนนำพรรคการเมืองมีความเห็นในประเด็นสำคัญ อย่างไร

สามารถ แก้วมีชัย

คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย

ร่างกฎหมายลูกพรรคการเมืองที่ผ่านความเห็นชอบของสนช. ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขียนไปตามกรอบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 แต่บางประเด็นมีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น เรื่องการให้ความสำคัญกับสมาชิกพรรคการเมืองมากจนเกินไป รวมไปถึงระบบไพรมารี่โหวตที่จะนำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

โดยข้อเท็จจริงแล้วประเทศเรายังไม่พัฒนาไปถึงจุดที่จะใช้ระบบไพรมารี่โหวต หากนำมาใช้จริงเชื่อว่าจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

เข้าใจว่าผู้ร่างต้องการให้สมาชิกพรรคได้มีส่วนร่วมกับการส่ง ผู้สมัครลงเลือกตั้ง แต่องค์ประกอบและจำนวนสมาชิกขององค์ประชุม อาจจะส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่จะต้องเดือดร้อนหาสมาชิกให้ครบทุกจังหวัดหากจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถส่งผู้สมัครลงจังหวัดหรือเขตนั้นๆ ได้

หลักความเป็นจริงการจะส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้ง ย่อมจะต้องหาบุคคลที่มีโอกาสได้รับเลือกตั้งมากที่สุด แต่วันนี้ผู้ร่างกลับไปให้ความสำคัญกับสมาชิกพรรคที่มีจำนวนน้อย เพื่อมาเลือกแคนดิเดตในการลงสมัคร สุดท้ายจะเกิดปัญหาการแย่งกันเป็นตัวแทนของพรรค

สมมติว่าหากเราคิดนอกกรอบ อาจจะเกิดปัญหาการซื้อเสียง โดยในแต่ละจังหวัดจะวิ่งซื้อเสียงของที่ประชุมสมาชิกหรือจัดตั้งโหวตเตอร์เพื่อโหวตให้กับตัวเอง ล็อบบี้กันจนวุ่นวายไปหมด แล้วถามว่าประชาชนที่เป็นคนใช้สิทธิ์เลือก จะยอมรับหรือจะร้องยี้กับแคนดิเดตหรือไม่

หรือเรื่องทุนประเดิมจัดตั้งพรรคการเมือง เข้าใจว่าคงอยากให้สมาชิกทุกคนได้มีส่วนร่วม ได้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของพรรค แต่ทุนประเดิมเพียง 1 ล้านบาทมองว่ายังไม่เกิดประโยชน์อะไรมากมาย เพราะถ้าจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งต้องใช้งบประมาณ ต้องมีการระดมทุนอีก พรรคขนาดใหญ่คงไม่มีปัญหา แต่พรรคเล็กจะทำอย่างไร

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธาน กมธ.ออกมาบอกว่าภูมิใจกับร่างพระราชบัญญัตินี้มาก เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหานายทุนครอบงำพรรคได้ แต่ส่วนตัวกลัวว่าสิ่งที่ฝันเอาไว้จะไม่เป็นไปตามฝัน

ทุกย่างก้าวหลังจากนี้จะเต็มไปด้วยหลุมพรางและขวากหนาม คงต้องระวังกันพอสมควร ทำผิดพลาดอาจถูก กกต.เพิกถอนสิทธิ์ชั่วคราว 1 ปีได้ ถือเป็นการปิดโอกาสคนที่อยากเล่นการเมือง

ร่างพระราชบัญญัติที่เป็นความฝันนี้อาจจะไม่เป็นความจริง คนที่เขียนไม่เคยลงสมัครหรือมาสัมผัสด้วยตัวเอง คิดแล้วก็ฝันว่าอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

สุดท้ายจะเกิดปัญหาตามมามากกว่าที่จะทำให้พรรคการเมืองพัฒนา

นิกร จำนง

ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา

ร่างกฎหมายลูกพรรคการเมืองที่ผ่านสนช. เห็นชัดว่ามองพรรคการเมืองในแง่ลบอย่างเต็มที่ คงเป็นกรรมของพรรค การเมือง และกลายเป็นตำบลกระสุนตกไป เกิดจากเจตนารมณ์ที่จะควบคุมพรรคการเมืองให้ดีโดยใช้กฎหมายกำหนด ซึ่งในความเป็นจริงทำอย่างนั้นไม่ได้

สนช.มีเจตนารมณ์ควบคุมอย่างเคร่งครัดจนทำให้พรรค การเมือง และการเมืองไทยไม่เติบโต ไม่ใช่การปฏิรูป เพราะการปฏิรูปคือการปล่อยให้มีการเปลี่ยนแปลง ให้มีการพัฒนา แต่แบบนี้คือล็อกไว้ให้อยู่ในกรอบที่คิดว่าถูกต้องแล้ว เติบโต ไม่ได้ งอกไม่ได้ พัฒนาไม่ได้

อีกอย่างคือพรรคการเมืองต้องมีทุนเข้ามา แต่นี่กลับไม่ให้ทุนเข้ามา เรื่องทุนจะต้องให้มีตัวมาแชร์ คือทั้งในพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก

นี่กลายเป็นว่าระบบที่จัดขึ้นมาจากพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้มองอีกด้านหนึ่งของเหรียญ ทำให้การเมืองไปอยู่ในมือของทุนด้วยซ้ำ เพราะต้องมีทุนมาก มีคนมาก ซึ่งพรรคขนาดเล็กก็ทำไม่ได้ พรรคขนาดกลางก็ทำลำบาก จะหลุดไปอยู่ภายใต้การครอบงำของโครงสร้างขนาดใหญ่ กลายเป็นว่าแทนที่จะมีตัวมาแชร์ทุนบ้างก็ไม่มี

ถ้าทุนไม่พอไม่ว่าจะทุนประเดิมหรือค่าสมาชิกพรรค ค่าอะไรก็ตาม กลายเป็นว่าพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจะเข้ามาสู้ลำบาก เพราะทุนใหญ่คุมพรรคใหญ่ เชื่อว่าเขามีความปรารถนาดีในการวางแบบนี้ แต่มันจะส่งผลกลับด้าน มันเป็นไซด์เอฟเฟ็กต์ กลายเป็นว่าจะหนักกว่าเดิม

ส่วนไพรมารี่โหวตเป็นเรื่องที่มีการสร้างขึ้นมาแล้วใช้ได้ในประเทศที่เป็นสหพันธรัฐคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาสงวนความแตกต่างระหว่างรัฐต่อรัฐเพื่อรักษาความแตกต่างของรัฐไว้

แต่ไทยเป็นรัฐเดี่ยว ระบบการเลือกตั้งใหม่ถอดด้าม การส่งผู้สมัครก็ใหม่ คงทำกันลำบากมาก ในระยะเวลาที่สั้น เช่น การส่งผู้สมัครต้องมีสมาชิกครบทุกจังหวัด ถ้าไม่มีกรรมการที่นั่นก็ส่งผู้สมัครไม่ได้

การจะส่งทุกจังหวัดก็ต้องมีสาขา มีศูนย์ มีค่าสมาชิก การบริหารจัดการ การดูแลผู้สมัคร จะเห็นว่าการเขียนเพื่อให้เกิดการเมืองล็อก ไม่ให้มีการพัฒนา ทุกอย่างจะขัดกันหมด เชื่อว่าปัญหาเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะพรรคเล็ก

เดิมที่กรธ.ออกมานั้นพรรคขนาดเล็กลำบาก แต่พอแปรญัตติออกมาอย่างนี้พรรคขนาดเล็กล้ม จบไปเลย ไม่สามารถทำงานการเมืองได้ คือมีได้แต่ไม่สามารถเอาคะแนนมาสู้ได้ พอสู้ไม่ได้แล้วจะทำทำไม

ส่วนประเด็นพรรคคู่แข่งฮั้วกันนั้นคงไม่มี เพราะไม่มีเวลามาฮั้วกันแน่ แค่เอาตัวให้รอดก็ลำบากแล้ว

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสู่การเมืองไม่ถึงกับปิดโอกาส แต่ไม่สามารถเติบโตตามธรรมชาติได้ ปิดโอกาสหรือไม่ปิดไม่รู้แต่โอกาสจะเข้ามายากมาก

ต้องกัดฟันสู้กันไป แล้วค่อยแก้กันในอนาคตหลังจากมีปัญหา เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร

เหลือทางเดียวคือเลิกเล่นการเมือง ซึ่งทำไม่ได้ ก็ได้แต่ก้มหน้ารับกรรม

ชำนาญ จันทร์เรือง

นักกฎหมายมหาชน

เห็นด้วยครึ่งหนึ่งกับระบบไพรมารี่โหวต ที่สนช.ปรับแก้ ในกฎหมายพรรค การเมือง ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดผู้สมัครก่อนลง เลือกตั้ง เนื่องจากในทางทฤษฎีการมีส่วนร่วมทางการเมือง ควรเป็นเช่นนั้น

แต่สำหรับประเทศ ไทย การนำรูปแบบนี้มาบังคับใช้ทันทีสำหรับการเลือกตั้งครั้งถัดไป จะเกิดปัญหาทางปฏิบัติจริง การจะมีสมาชิกในทุกเขตเลือกตั้ง เพื่อมามีส่วนร่วมในการคัดสรรผู้สมัครเป็นเรื่องยาก

อีกทั้งพรรคการเมืองใหญ่ที่มีฐานเสียงชัดเจนตามพื้นที่ในประเทศไทย จะไม่อยากใช้ระบบนี้ เนื่องจากจะกลายเป็นภาระที่ไม่ได้ส่งผลอะไรขึ้นมา เช่น เพื่อไทย ก็ไม่อยากใช้ไพรมารี่โหวตในภาคใต้ ประชาธิปัตย์ก็ไม่อยากใช้ในภาคเหนือกับภาคอีสาน

แต่ผลกระทบที่ตามมาคือ พรรคการเมือง จะอ่อนแอลง นโยบายจะไม่สำคัญเท่าตัวบุคคล สมาชิกพรรคจะแข่งขันกันเองสูง ไม่เป็นเอกภาพ เพื่อที่จะได้เป็นตัวแทนลงแข่ง

หากดูระบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมที่กรธ.กำหนดไว้ ประกอบกัน จะพบว่า เจตนารมณ์ทั้งหมดคือ การทำหมันพรรค การเมือง ไม่ว่าอย่างไร จะไม่มีพรรคการ เมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งชนะขาดเสียง ข้างมาก จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ เต็มที่จะได้เพียง 250 ที่นั่ง

ยิ่งพรรคเพื่อไทยยิ่งมีโอกาสได้ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยมาก เพราะมีโอกาสชนะแบบเขตเลือกตั้งสูงอยู่แล้ว ไม่นับถึงการเปิดช่องให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช.มีอำนาจร่วมลงมติเลือกนายกฯ

หากจะนำระบบไพรมารี่โหวตมาใช้ทันที ควรมีการปรับแก้ให้มีความยืดหยุ่นมากกว่านี้ โดยไม่ควรบังคับให้ทำทุกเขต เลือกตั้ง พื้นที่ไหนพร้อมให้ดำเนินการได้ และไม่ควรนำมาใช้ในการหาส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนในหลายพื้นที่จะไม่มีข้อมูลผู้สมัคร

ทั้งนี้เพื่อให้การเมืองแบบมีส่วนร่วมพัฒนาไปตามลำดับ

เห็นด้วยหากจะมีการตั้งกมธ.ร่วม เพื่อพิจารณาปรับแก้กฎหมายพรรคการเมือง ให้ระบบไพรมารี่โหวตยืดหยุ่นกว่านี้ ตลอดจนเรื่องระยะเวลาการดำเนินการตามกฎใหม่ แล้วปิดช่องการกลั่นแกล้งกัน โดยให้กกต.เข้ามาเป็นผู้ดูแล

ไม่ว่ากฎหมายจะออกมาเป็นอย่างไร อนาคตของพรรคการเมืองวังเวงอยู่ดี นักการเมืองที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไม่มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย

เข้าทำนองคนร่างไม่ได้ใช้ คนใช้ ไม่ได้ร่าง

จุติ ไกรฤกษ์

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

ร่างกฎหมายพรรคการเมืองที่ผ่านสนช. ในภาพรวมเห็นว่า 1. มีเจตนาดี ผู้ร่างมีความปรารถนาดี แต่ขาดความเข้าใจในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของการทำงาน ทำให้ผลที่ออกมาจะไม่เป็นอย่างที่หวัง

เช่น คนรุ่นใหม่ที่เป็นคนดี คนเก่ง อยากเข้ามาเล่นการเมือง แต่จะมีอุปสรรคเยอะ เพราะการกลั่นกรองคนดีเหล่านี้ต้องมาจากประชาชนในพื้นที่ และถ้ามาในระบบบัญชีรายชื่อจะต้องให้สมาชิกพรรคทั้งหมดลงคะแนน

แต่คนเหล่านี้ไม่ใช่นักการเมืองโดยตรง ไม่มีระบบจัดตั้ง ขาดการเป็นที่รู้จักในหมู่สมาชิกพรรค สมมติอยู่ขอนแก่น สมาชิกที่อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่รู้จัก ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดได้ ยากผิดวัตถุประสงค์

2.ทำตามกติกากฎหมายใหม่กระบวนการขั้นตอนเยอะ หากมองในแง่บวกเป็นการล่อนตะแกรงหลายรอบให้ได้คนดี แต่ต้องเพิ่มต้นทุนในการดำเนินการ ไม่มีอะไรฟรีในโลกนี้ ทำให้คนใหม่เสียเปรียบไม่เป็นที่รู้จัก การสื่อสารกับสมาชิกทั่วประเทศต้องใช้วิธีเขียนจดหมาย สมมติสมาชิกพรรคมี 4 แสนคน ต้องส่งไปรษณียบัตร 4 แสนใบ ใช้เงินจำนวนมาก คนดี เด่น ดัง จะแหวกเข้ามาได้ยาก

ระบบไพรมารี่โหวต กฎหมายที่ออกมาละเอียดมาก ทำให้การทำงานยากมาก ที่กรธ.ห่วงว่าพรรคที่เป็นคู่แข่งอาจฮั้วกันเรื่องการได้ตัวผู้สมัครก็เชื่อว่ามี

สมมติบางพื้นที่มีเจ้าพ่อ เป็นคนมีบารมี ส่งผู้สมัครที่เป็นลูกน้องตัวเองมา ถึงเวลานั้นส่วนกลางจะปฏิเสธอย่างไร ก็ไม่รู้จะแก้อย่างไร เพราะยังงงกับกฎหมายอยู่ วันนี้จึงไม่หวังอะไรมาก

ร่างกฎหมายนี้เป็นการปิดโอกาสคนรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบการเมือง พรรคมีคนเหล่านี้อยู่แล้ว คิดว่าจะทำอย่างไรให้เขามีที่ยืน เดิมจะจัดให้พวกนี้ได้เป็นส.ส.และสามารถมีส่วนร่วมทำงาน คิดแบบใหม่ และทำแบบมือสะอาด เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ยังคิดไม่ออก แต่ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้ไว้ให้บ่น ก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด

ส่วนเรื่องทุนประเดิมตั้งพรรค 1 ล้านบาท เงินลงขัน 1 พัน-5 หมื่นบาท จากเดิม 1 พัน – 3 แสนบาทนั้น ไม่มีปัญหาสำหรับพรรคเดิมเพราะมีทุนจัดตั้งพรรคอยู่แล้ว แต่พรรคใหม่ต้องหาคนรุ่นใหม่มา ซึ่งในยุคเศรษฐกิจอย่างนี้ทำให้การจัดตั้งพรรคใหม่เกิดยากขึ้น

มองในมุมกลับกันนายทุนแฝงที่มารวมกลุ่มกันตั้งพรรคใหม่ก็มีพลังสร้างกลุ่มใหม่ขึ้นมา แต่นักการเมืองธรรมชาติโดยไม่มีการจัดตั้งจากนายทุนจะเกิดยาก

ส่วนที่มีการมองว่าควรมีบทเฉพาะกาลยืดหยุ่นในการเลือกตั้งครั้งหน้า เห็นว่ามองได้สองแง่สองมุม ถ้าต้องการการเมืองใหม่เลย จะไม่มีบทเฉพาะกาล แต่มีเวลาปรับตัวน้อยก็ทำงานลำบาก ขณะที่พรรคเล็กที่มีสมาชิกน้อยทำงานได้คล่องตัว ดีกว่าประชาธิปัตย์ที่ทำอะไรทีต้องติดต่อสมาชิก 2 ล้านคน ต้องส่งจดหมายติดต่อ หากจะมองว่าทุกคนต้องทันสมัย ติดต่อกันทางโซเชี่ยลได้ อย่าลืมว่า 3 ใน 5 ล้านคนที่เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้าถึงอินเตอร์เน็ตก็ไม่ได้เข้าถึงทั่วประเทศ

และอย่าลืมว่าคนอายุ 60 ปี เป็นคน 1 ใน 5 ของประเทศ ที่ใช้อินเตอร์เน็ตน้อยมาก แล้วจะเอาคนเหล่านั้นไว้ข้างหลังหรือ ทำอะไรต้องนึกถึงคนกลุ่มนี้ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน