คอลัมน์ รายงานพิเศษ

หมายเหตุ : นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวปาฐกถา ?ทิศทางการเมืองไทยกับสังคม 4.0? ในงานสัมมนา Direk?s Talk โดยศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มธ. ที่มธ.ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.

วาทกรรมคนดี-คนไม่ดี

บ้านเมืองระยะ 3-4 ปีมานี้ นับแต่การลุกฮือต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของมวลชนคนเสื้อเหลือง ซึ่งนำไปสู่รัฐประหาร 22 พ.ค.57 มาจนถึงการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผู้ร่างเรียกเองว่าเป็นฉบับต้านโกง

ใช่หรือไม่ว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะมีคนเชื่อว่าตัวเองกำลังทำความดี ด้วยการเอาคนไม่ดีลงมาจากเวทีอำนาจ จากนั้นก็เขียนกติกาการเมืองขึ้นใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีกลับมามีอำนาจอีก หรือถ้าขึ้นมาได้ก็ต้องถูกฝ่ายคนดีควบคุมอย่างเข้มข้น

พวกที่ถูกกล่าวหาเป็นคนไม่ดีล้วนผูกติดอยู่กับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ส่วนผู้ที่ถือตนเป็นคนดี ตอนแรกก็เป็นมวลชนคนชั้นกลางในเมือง กับแกนนำที่มาจากพรรคการเมือง ฝ่ายค้าน จากนั้นจึงมีการส่งไม้ต่อไปยังชนชั้นนำภาครัฐให้ช่วยลงดาบสุดท้าย

วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นช่วง 2556-2557 ไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างมวลชนที่ใส่เสื้อสีต่างกันเท่านั้น หากกินลึกไปถึงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐ กับชนชั้นนำใหม่ที่โตจากภาคเอกชนและขึ้นสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง โดยฝ่ายแรกคุมกลไกรัฐราชการ ฝ่ายหลังมีมวลชนเรือนล้านเป็นฐานเสียงสนับสนุน

ความขัดแย้งที่ลงลึกขนาดนั้นคงไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยวิธีจับมือปรองดองของบรรดาแกนนำสีเหลือง-สีแดง ขณะที่ตัวละครเอกจริงๆถูกจัดไว้นอกสมการ

ยุคชนชั้นนำภาครัฐทวงคืนอำนาจ

ยิ่งไปกว่านี้รัฐธรรมนูญ 2560 ยังสะท้อนแจ่มชัดว่าชนชั้นนำ ภาครัฐต้องการทวงคืนและรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวทีอำนาจไว้อย่างถาวร อีกทั้งจำกัดพื้นที่ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่ให้อยู่ในฐานะผู้กุมอำนาจนำอีกต่อไป

เป็นข้อสังเกตที่ยืนยันได้จากข้อเท็จจริงโดยเฉพาะในประเด็นรัฐธรรมนูญนั้น เราสามารถมองเห็นเจตจำนงของผู้ร่างได้จากบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ประการแรก มาตรา 91 เปลี่ยนระบบเลือกตั้งแบบเดิมให้เป็นระบบใหม่ที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” ทำให้อิทธิพลของพรรคใหญ่ถูกจำกัดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมโอกาสของพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ทำให้การได้เสียงข้างมากของพรรคเดียวเป็นไปได้ยาก และรัฐบาลที่ตั้งขึ้นอาจต้องเป็นรัฐบาลผสมซึ่งไม่ค่อยมีเสถียรภาพ

พูดให้ชัดเจนก็คือระบบเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อ ถูกดัดแปลงให้ขึ้นต่อการเลือกตั้ง ส.ส.เขต ใช้คะแนนรวมของแต่ละพรรคจากเขตเลือกตั้งทั่วประเทศมาคำนวณหาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคควรมี และจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับพรรคไหนชนะเลือกตั้ง ส.ส.เขตเต็มโควตาแล้วก็จะไม่มีสิทธิมีส.ส.บัญชีรายชื่อเลย ผลทางอ้อมระบบนี้ย่อมทำให้การเสนอนโยบายระดับชาติของพรรคการเมืองถูกลดความสำคัญลง

ประการต่อมา ขณะที่อำนาจของนักการเมืองและพรรคถูกจำกัดลงทั้งโดยตรงโดยอ้อม บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญยังเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ ให้ชนชั้นนำภาครัฐอย่างเต็มที่ โดยกำหนดให้ข้าราชการชั้นสูงเป็นทั้งกรรมการสรรหา และเป็นผู้รับการสรรหามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและกลไกควบคุมต่างๆ และที่น่าสนใจคือในกระบวนการดังกล่าวบทบาทและอำนาจของฝ่ายตุลาการถูกยกระดับให้สูงขึ้น และแผ่ขยายออกไปมาก

ประเด็นสำคัญที่สุด บทเฉพาะกาลกำหนดให้ ส.ว.ชุดแรก มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. และกำหนดให้มีอำนาจร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการรับรองหรือไม่รับรองผู้ที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เมื่อบวกรวมกับบทบัญญัติที่ให้นายกฯ เป็นบุคคลนอกรายชื่อของพรรคการเมืองได้ ทำให้เห็นชัดเจนว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอยู่ตรงไหน

ส่อกุมอำนาจยาวต่อเนื่อง 9-10 ปี

ประการสุดท้าย พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ กับพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ ซึ่งครม.ส่งร่างเข้าสภาแล้ว ต้องออกมาใน 4 เดือน หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หมายถึงว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทบจะกำหนดนโยบายอะไรเพิ่มไม่ได้เลย และอาจต้องกลายเป็นผู้สืบทอดนโยบาย คสช.เสียเอง

ยิ่งไปกว่านี้ รัฐธรรมนูญยังมีบทบัญญัติต่างๆ ที่ทำให้แก้ไขได้ยากจนถึงขั้นเกือบเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหมายถึงว่าผู้ร่างมีวัตถุประสงค์จะตรึงโครงสร้างอำนาจดังกล่าวไว้ให้นานแสนนาน

ดังนั้นเมื่อบวกรวมกับช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองโดยตรงแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่าการกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไปต่ำกว่า 9-10 ปี

ที่น่าสนใจมากคือทำไมชนชั้นนำภาครัฐและพันธมิตรทางสังคมกล้าร่างรัฐธรรมนูญที่เอียงข้างตนเองออกมาได้ขนาดนี้ เป็นไปได้ที่อาจรู้สึกว่าฐานะชนชั้นนำกำลังถูกกัดกร่อนคุกคามจึงต้องการกลับมามีฐานะนำในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับทุนนิยมโลก ให้เป็นไปตามแนวทางที่ตนเองยังคงมีบทบาทและมีที่อยู่ที่ครบถ้วน

ด้วยเหตุดังนี้วาทกรรมเรื่องความดี จึงผูกติดอยู่กับวาทกรรมเรื่องความเป็นไทย และด้วยเหตุดังนี้จึงมีการกำหนดทิศทางของประเทศโดยผ่านยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า

การวางแผนผังจัดสรรอำนาจโดยไม่สอดคล้องกับสภาพดุลกำลังทางสังคมที่เป็นอยู่ โดยผลักดันฐานะครอบงำของฝ่ายอนุรักษ์มากเกินจริง จึงเท่ากับซ่อนแรงเสียดทานหรือกระทั่งระเบิดเวลาเอาไว้ตั้งแต่ต้น

“มาสเตอร์แพลน”ช่วงชิงมวลชน

เช่นนี้แล้วอะไรเล่าที่ทำให้ผู้ร่างกล้าทำเกินดุลกำลัง เปรียบเทียบระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้คัดค้านอำนาจนำของชนชั้นนำภาครัฐ โดยบัญญัติให้เสียงขอประชาชนมีผลน้อยที่สุดต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการกำหนดนโยบาย

ในความเห็นส่วนตัวคำตอบน่าจะอยู่ในนโยบาย 2 ประการ หนึ่งคือการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง หรือที่เรียกกันว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 และสอง นโยบายขับเคลื่อนจุดหมายทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้ด้วยกลไกประชารัฐ

ภายนอกนโยบายทั้งสองอย่างดูเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่นี่เป็นมาสเตอร์แพลน ในการช่วงชิงมวลชนและสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยลมาก เป็นส่วนสำคัญของยุทธการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจนำ ซึ่งป็นการวางแผนที่เป็นระบบและบูรณาการการโจมตีจากทุกมิติเข้าด้วยกัน

สำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลชุดนี้ยังคงยึดโยงอยู่กับระบบทุนโลกาภิวัฒน์ซึ่งดำเนินไปภายใต้แนวทางเสรีนิยมใหม่ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน 10 แห่ง รวมทั้งการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ล้วนเป็นโครงการที่จะใช้แรงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและทุนในประเทศ

รัฐบาลยังมีโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน infrastructures ซึ่งคิดเป็นงบประมาณถึง 2.0 ล้านล้านบาท ขยายระบบโลจิสติกส์ในระดับอภิมหาโครงการหลายอย่าง ตั้งแต่เพิ่มเส้นทางขนส่งในระบบรางไปจนถึงการสร้างสนามบินและท่าเรือน้ำลึก

ทั้งหมดนี้เพื่อเพิ่มความโยงใยอันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยกับทุนนิยมโลกทั้งสิ้น

“ประชารัฐ”หักล้าง”ประชานิยม”

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการใช้ทุนข้ามชาติมาช่วยฉุดลากเศรษฐกิจไทยก็ดี ความสับสนอลหม่านเรื่องแรงงานในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ก็ดี ล้วนแล้วแต่จะนำกลับมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหมายความว่าการลดช่องว่างระหว่างรายได้ยังคงป็นแค่ความฝันระยะไกล

คิดว่าผู้บริหารชุดปัจจุบันรู้ปัญหาดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นรัฐราชการจึงต้องหันมาใช้ระบบสวัสดิการก่อน และระบบสังคมสงเคราะห์ เพื่อลดทอนแรงกดดันจากขั้นล่างสุด ในการนี้รัฐบาลปัจจุบันเตรียมงบประมาณไว้ถึง 8 หมื่นล้านบาท สำหรับการช่วยเหลือดูแลคนจนที่มาลงทะเบียน

ฝ่ายรัฐก็ไม่ได้อาศัยการลงทุนจากต่างชาติเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4.0 แต่อย่างเดียว หากยังคิดยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “กลไกประชารัฐ” ขึ้นมาเป็นเครื่องจักรใหญ่อีกตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

จุดที่น่าสนใจที่สุดของนโยบายหรือกลไกประชารัฐก็คือไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการเติบโตของจีดีพีเท่านั้น หากมีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ไปพร้อมๆ กัน ตามนโยบายประชารัฐ รัฐราชการเสนอตัวเป็นแกนนำประสานความร่วมมือธุรกิจใหญ่กับธุรกิจรายย่อย หรือแม้แต่เกษตรกรในท้องถิ่นต่างๆ โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมเป็นภาคีขับเคลื่อนด้วย

ด้วยเหตุดังนี้นโยบายประชารัฐจึงมีนัยทางการเมืองสูงมาก เพราะเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเอกชน เคลื่อนไหวลงสู่มวลชนระดับฐานราก ซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จอาจส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็นโมฆะได้

สิ่งที่เราไม่รู้คือ นโยบายนี้มุ่งลอยแพตัดตอนนักการเมืองมาตั้งแต่แรกด้วยการทำให้พวกเขาเป็นคนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศ หรือเป็นแค่ผลพลอยได้ของสูตรแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ที่แน่ๆ คือในทางนโยบายแล้วมันถูกออกแบบมาหักล้างตอบโต้นโยบายประชานิยมโดยตรง

“เกี้ยซิบาธิปไตย”

คงเห็นแล้วว่าเที่ยวนี้ชนชั้นนำภาครัฐไม่ได้เข้ามากุมอำนาจอย่างเฉื่อยเนือย หรือแค่รักษาผลประโยชน์เดิมๆไปวันๆ ตรงกันข้าม พวกเขามาเปิดฉากรุกทางการเมืองอย่างเข้มข้น เป็นระบบ ถึงขั้นมีมาสเตอร์แพลน ในการสถาปนาอำนาจนำของตนให้มั่นคงยั่งยืนและอยู่ได้ในยุคโลกาภิวัฒน์

ถ้าพรรคใดคิดอะไรไม่ได้มากไปกว่าชนชั้นนำภาครัฐ หรือไม่กล้าแตะต้องลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือไม่กล้าคิดต่างในเรื่องใหญ่ๆ ก็ป่วยการจะมีพรรคเหล่านั้น เพราะพวกเขาจะกลายเป็นแค่กลุ่มแสวงหาอำนาจและเป็นแค่ส่วนตกแต่งของพลังอำนาจที่ขับเคลื่อนรัฐราชการและควบคุมสังคมไทยอยู่แล้ว

ดังนั้นฉากหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นคือพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งผนึกกำลังกันหนุนผู้นำจากกองทัพ ทั้งเพื่อกีดกันพรรคที่เคยชนะในการเลือกตั้งหลายครั้งหลัง และชิงส่วนแบ่งทางอำนาจมาไว้กับตนแม้ต้องเล่นบทพระรองก็ตาม

โอกาสเดียวที่พรรคการเมืองจะต่อรองกับพรรคราชการได้คือต้องร่วมมือกันเองอย่างเหนียวแน่น และตอบคำท้าของชนชั้นนำภาครัฐในทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องตอบคำท้าใหญ่ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาและการปฏิรูปตามครรลองประชาธิปไตย ที่พิสูจน์ได้ว่าเหนือกว่า ดีกว่า เป็นจริงและเป็นธรรมมากกว่า

ดังนั้นการมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงมีแนวโน้มที่จะไปได้ทั้งสองทาง ทางแรกนักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้งให้กับชนชั้นภาครัฐที่จะกุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตยกลายเป็นการเมืองแบบที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าระบอบ “เกี้ยเซี้ย” หรือ “เกี้ยซิบาธิปไตย”

ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ผนึกกำลังกันทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ โดยมีข้อเสนอแนะหรือข้อโต้แย้งเชิงนโยบายที่ แตกต่างจากแนวคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม อันนี้ถ้าเกิดขึ้นจริงจะเป็นปรากฏการณ์ที่เร้าใจยิ่ง และเป็นการสมทบส่วนที่สำคัญให้กับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศของเรา

เสียงประชาชนน้ำหนักลดลง

กล่าวสำหรับภาคประชาชนโดยทั่วไป ฐานะของพวกเราใต้เงื่อนไขไทยแลนด์4.0 และกลไกประชารัฐ ตลอดจนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

อันดับแรก ถ้าพูดเฉพาะเรื่องเลือกตั้ง เสียงของพวกเขาคงจะมีน้ำหนักลดลง เพราะระบบเลือกตั้งใหม่และอำนาจของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจะทำให้ไม่มีพรรคไหนตั้งรัฐบาลได้โดยพรรคเดียว เมื่อนั้นทางเลือกในระดับนโยบายของผู้ลงคะแนนเลือกตั้งก็ดูจะหายไปด้วย

ซึ่งชนชั้นนำภาครัฐและมวลชนห้อมล้อมก็ขับเคลื่อนวาทกรรมดักหน้าไว้แล้วว่าการเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย

ชาวนาไทยเคยเจอสภาพที่ถูกทอดทิ้งจมปลักอยู่กับความเสียเปรียบ และไม่ถูกนับในทางการเมืองอยู่เป็นเวลานาน เมื่อพรรคการเมืองหนึ่ง เข้ามาเสนอแนวทางประชานิยมหนุนช่วยพวกเขาเรื่องหนี้สินและราคาผลผลิต บรรดาเกษตรกรจึงหันมาสนับสนุน พรรคนี้อย่างท้วมท้น และกลายป็นพวกที่ตื่นตัวทางการเมืองแบบฉับพลัน น่าสนใจว่าเมื่อแนวทางประชานิยมถูกปิดกั้น ชะตากกรรมของพวกเขาจะเป็นเช่นใด

ก่อนหน้ารัฐประหาร 2557 แวดวงวิชาการเคยผูดถึงประเด็นการเกิดขึ้นของคนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดซึ่งส่วนใหญ่แล้วคือเกษตรกรรายย่อย ปัจจุบันคนชั้นนี้คือเป้าหมายหลักที่นโยบายประชารัฐต้องการช่วงชิงมาเป็นภาคี

จึงน่าสนใจมากกว่าจากนี้ไปกลไกของฝ่ายอนุรักษ์จะสลายความเจ็บช้ำน้ำใจของชาวนาเสื้อแดงหรือไม่ และในการเลือกตั้งครั้งหน้าฐานมวลชนกลุ่มนี้จะย้ายค่ายหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน