ข้อเสนอรับมือเศรษฐกิจซึมยาว : รายงาน

ข้อเสนอรับมือเศรษฐกิจซึมยาว – รัฐบาลยอมรับสถานการณ์เศรษฐกิจสืบเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบระยะสั้น หากกินเวลานาน 6-9 เดือน

มีความเห็นจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

พร้อมเสนอมาตรการรับมือกับปัญหา ที่จะมีผลไปถึงการเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทยในอนาคต

ข้อเสนอรับมือเศรษฐกิจซึมยาว

กิตติ ลิ่มสกุล

นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ มหภาค

วิกฤตโควิด-19 หากเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งแล้วเป็นปัญหาคนละแบบ ต้มยำกุ้งเป็นวิกฤตการทางการเงินและอัตราการแลกเปลี่ยนที่ผิดพลาด กระทบต่อผู้ที่ถือหุ้นในระบบสถาบันทาง การเงิน ทั้งเป็นวิกฤตการณ์เฉพาะเอเชีย แต่ปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ระบบการเงินไม่ได้มีปัญหา ต้นเหตุเกิดจากการแทรกแซงจากภายนอก หรือ Externality

จำเป็นต้องมองปัจจัยสำคัญคือ 1.อัตราการแพร่ระบาดที่คงตัว 2.อัตราการตายอยู่ในระดับที่โรงพยาบาลและสาธารณสุขรับมือได้ ตอนแรกการคำนวณเกิดจากความตื่นตระหนก จึงคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อมากเกินไป

แม้จำนวนผู้ติดเชื้อและที่รักษาหายอยู่ในระดับปลอดภัยแล้วการเข้าสู่การปรับสมดุลคือปัจจัยสำคัญ รัฐบาลจำเป็นต้องผ่อนคลายมาตรการ ปัญหาคือหลังจากใช้มาตรการเข้มข้น รัฐบาลกลับไม่มีเงินดูแลประชาชนอยู่ในมือเลย อาจเพราะคาดไม่ถึง หรือไม่ชินกับการรบกับโรคระบาด

วิธีรับมือกับผลของเศรษฐกิจจากการปิดประเทศเปราะบางมาก ฝ่ายค้านเสนอให้เอาเงินในงบประมาณมาหักใช้ก่อน เพราะมีบางส่วนที่ประยุกต์ได้แต่รัฐบาลไม่ทำ ประเทศไทยผิดตรงที่ปิดช้าเพราะประมาท ซ้ำยังปิดแล้วไม่มีกระสุนเตรียมไว้ มาตรการไม่ชัดเจนทำให้ระบบต่างๆไม่เดิน

เรื่องที่ต้องเร่งทำด่วน คือ ขับเคลื่อนการบริโภค ซึ่งเป็นตัวใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ การบริโภคลดลงเพราะประชาชนไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน จะทำให้เงินไหลเวียนได้ก็ต้องมีการผลิต การขาย ยอมให้มีการขนส่งและทำธุรกรรมทั้งต่างจังหวัดและในเมือง พร้อมมอบอำนาจให้จังหวัดและท้องถิ่น

เมื่อเข้าสู่ระยะปลอดภัยการผ่อนล็อกไม่ใช่เรื่องผิดแต่ปัญหาตกมาอยู่ที่คน 3 กลุ่มคือ 1.คนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตั้งแต่เจ้าของจนถึงพนักงาน 2.คนที่ทำมาหากินวันต่อวัน หากไร้การตอบสนองจากรัฐบาลเกิน 1 เดือน เดือดร้อนหนัก 3.เอสเอ็มอีจะขาดสภาพคล่อง ที่อยู่ได้ไม่พ้นบริษัทใหญ่ทุนหนา จนกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจลามทุ่ง

เศรษฐกิจมหภาคของไทยไม่ถือว่ารุนแรงก็จริง แต่ทั่วโลกโดยเฉพาะมหาอำนาจอย่างอเมริกาหรือยุโรปยังรุนแรงอยู่ ข้อมูลวิเคราะห์เศรษฐกิจทั่วโลกตัวเลขเฉลี่ยการหดตัวเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ 2.09-3.86 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงอย่างน้อย 3.03 เปอร์เซ็นต์ จนถึง -6.01 เปอร์เซ็นต์ ถ้ายังระบาดรุนแรงในต่างประเทศต่อเนื่อง

และเป็นไปได้ว่าไทยจะหดตัวมากกว่าหลายประเทศ เพราะมีภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศค่อนข้างมาก ยังพึ่งพาการท่องเที่ยวและการนำเข้า-ส่งออกเป็นหลัก

การสะสมของผลกระทบจะส่งต่อไปยังภาคการบริการที่อ่อนไหวในไทยอย่างหนัก เช่น โรงแรม ท่องเที่ยว ค้าปลีก ค้าส่ง ลดลงอยู่ที่ประมาณ -11.53 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะโรงแรมต่างจังหวัด ฟันธงได้ว่าตายสนิท

ภาคการบริการด้านการท่องเที่ยวและการเดินทางทางอากาศ (ข้ามประเทศ) ลงลดถึง -14.65 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับเกษตรลดอยู่ที่ -3.06 เปอร์เซ็นต์ อุตสาหกรรม -4.43% ข้อมูลตัวเลขนี้อาจสรุปได้ว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายการบริการท่องเที่ยวจะกระทบหนักมาก อาจถึงขั้นเละเทะทั้งประเทศจนต้องจัดที่ทางกันใหม่ อีกภาคส่วนที่กระทบหนักคือ อสังหาริมทรัพย์

โควิด-19 จะมีผลกระทบหนักกว่าต้มยำกุ้งแน่นอน ช่วงต้มยำกุ้งฐานเกษตรของเรายังดีอยู่ แต่ตอนนี้ประชาชนหันมาตั้งหลักปักฐานในเมือง กลับต่างจังหวัดก็ไม่มีอะไรให้ ตั้งหลักแล้ว

อีกทั้งโรคระบาดใหม่นี้ไม่ใช่กดดันแค่ตัวเลขอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของวันข้างหน้าที่ยังมองอนาคตไม่เห็น ความหวังเดียวที่เป็นสัญญาณการฟื้นเศรษฐกิจคือ วัคซีน ที่ต้องเสร็จภายในหนึ่งปีครึ่ง

แน่นอนว่าการแจกเงินไม่นับเป็นการแก้ไขทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อมีแผนจะกู้เงินจำนวนมหาศาลก็ไม่ควรเอาไปทำอะไรสะเปะสะปะ สถาบันการเงินและการคลังต้องทำร่วมกัน ตั้งเครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่าเอสพีวี (Special Purpose Vehicle) คอยค้ำประกัน เพราะธนาคารไม่มีทางปล่อยกู้ให้เอกชนโดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย ยิ่งสถานการณ์แบบนี้ยิ่งริบหรี่

รัฐบาลต้องเข้าไปลดความเสี่ยงให้ธนาคารและยอมเสี่ยงด้วย โดยนำเงินที่กู้มาไปลงกับระบบประกันความเสี่ยงผ่านระบบกฎหมาย หากเอสเอ็มอีเอาไปใช้รัฐต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย เช่น การช่วยสถาบันการเงินให้ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี ปล่อยกู้ให้ธ.ก.ส. เพื่อให้ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ให้เกษตรกร จะแก้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจได้

ผมย้ำว่าประเด็นอยู่ที่รัฐบาลต้องร่วมมือกับฝ่ายค้าน ตั้งทีมเศรษฐกิจเฉพาะกิจ รวบรวมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อเขียนโครงการนำเสนอหาทางออกร่วมกัน และไม่ว่าการกู้เงินครั้งนี้จะพอหรือไม่ แต่จำเป็นต้องเปิดสภาให้มีการปรึกษาหารือและตรวจสอบ

สุดท้ายคือการยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งอยู่ที่ผู้นำยังคิดไม่ครบวงจรมากพอ

ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากนี้ขึ้นอยู่กับชีวิตวิถีใหม่หรือ new normal เนื่องจากไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีโควิด-20 หรือ โควิด-21 ต่อไปหรือไม่ วิธีปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตประจำวันย่อมมีผลต่อการซื้อขายและทำธุรกิจแบบออนไลน์ตามสถานการณ์

ข้อเสนอรับมือเศรษฐกิจซึมยาว

นิพนธ์ พัวพงศกร

นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

เรื่องเฉพาะหน้าที่เป็นเรื่องสำคัญหลังรัฐบาลจ่ายเยียวยา 3 เดือนให้เกษตรกรและคนตกงาน เชื่อว่ายังจะมีปัญหาภาคท่องเที่ยวคงยังไม่ฟื้น แม้โควิด-19 จะสงบลงแต่กว่าจะมีวัคซีนหรือยารักษาที่ได้ผลอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี

ขณะที่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังไม่ฟื้นง่าย ในประเทศผู้คนก็จะไปเที่ยวแบบระมัดระวังมากและมีน้อย ทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก จึงต้องมีการสร้างงานในต่างจังหวัด เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่กลับต่างจังหวัด แต่แนวคิดสร้างงานชนบทแบบเดิมๆ ขุดบ่อ สร้างถนน คนพวกนี้ไม่ทำเพราะไม่ใช่คนงานก่อสร้าง แต่เป็นคนงานภาคบริการ ทำงานในห้องแอร์

ดังนั้น การคิดว่าจะทำอะไรจึงเป็นเรื่องยากมาก คนส่วนกลางไม่มีทางรู้ ต้องระดมความคิดและใช้นโยบายสมัยมีวิกฤตปี 40 คือโครงการ SIP (Social Investment Project) ความช่วยเหลือจากมิยาซา แต่ตอนนั้นขั้นตอนวิธีทำล่าช้ามาก

ต้องนำมาปัดฝุ่นให้คนต่างจังหวัด คนในชุมชน เสนอโครงการแล้วส่วนกลางอนุมัติ บายพาสระเบียบราชการทั้งหลายเพื่อให้เกิดการสร้างกิจกรรม และการจ้างงานที่เหมาะกับคนกลุ่มต่างๆ เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน

เช่น โรงเรียนจะเปิดต้องเตรียมสถานที่ใหม่อย่างไร รวมทั้งเรื่องอุปกรณ์ สถานที่ท่องเที่ยวจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อรับมือกับธุรกิจที่เล็กลง แล้วค่อยปรับไปสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงซึ่งอีกหลายปี ฉะนั้นต้องมีโครงการที่เสนอมาจากท้องถิ่น โดยอย่าให้ติดระเบียบราชการ ขณะเดียวกันต้องป้องกันการทุจริตได้ด้วย

เป็นการใช้แนวคิดของ SIP แต่ต้องทำเร็ว ในอดีตช้ามากเพราะมัวแต่เสนอโครงการไปมา กว่าชาวบ้านจะคิดออกแล้วทำเรื่องเสนอ แต่เวลานี้ชาวบ้านน่าจะคิดออกเพราะมีองค์กรเอกชน กลุ่มประชาสังคม อาจารย์มหาวิทยาลัย มีการระดมสมอง ถ้าใช้แนวคิด SIP จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้

ส่วนปัญหาระยะกลางที่ต้องทำคือเรื่อง Social Safety Net หรือ โครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม คนกลุ่มนี้เป็นแรงงานนอกระบบ หรืออาชีพอิสระ ที่เรียกว่าเศรษฐกิจ ตามอัธยาศัย มี 18-19 ล้านคน จากแรงงาน 34 ล้านคนรวมเกษตรกร

คนเหล่านี้ไม่มี 1.ประกันการว่างงาน เหมือนประกันสังคม 2. ไม่มีประกันชราภาพ ประกันสังคม ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีโครงการกองทุนการออมแห่งชาติ แต่มีคนเข้าร่วมเพียง 3 ล้านคน ถือว่าน้อยมากเทียบจาก 18-19 ล้านคน ต้องถือโอกาสสร้างระบบนี้ซึ่งก็ไม่ง่าย ถ้าทำได้เมื่อเกิดวิกฤตครั้งต่อไปรัฐบาลไม่ต้องควักเงินเยอะขนาดนี้ ซึ่งก็คือหนี้ของประชาชนและจะกลายเป็นวิกฤตการคลังในอนาคต แค่1 ล้านล้านต้องใช้อีกกี่ปีก็ไม่รู้

ถ้าเกิดวิกฤตครั้งต่อไปต้องสร้างกองทุน เช่น ในต่างจังหวัดเกษตรกรมีกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ เงินอยู่ที่หมู่บ้านตายถึงได้ ไม่ได้นำไปหาผลประโยชน์ ถ้าระดมเงินกองทุนพวกนี้มาตั้งกองทุนลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ประเทศจะมีเงินจากกองทุนพวกนี้มาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเยอะมาก ชาวบ้านจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าต่างคน ต่างเก็บ

และหาวิธีให้ชาวบ้านที่ชอบเล่นหวย การพนัน เข้ามาสมทบโดยการซื้อลักษณะสลากออมสิน หรือสลากธ.ก.ส. ส่วนหนึ่งเป็นค่าหวย ค่ารางวัล แต่ส่วนใหญ่เก็บเอาไว้สำหรับเวลาตกงานและระบบบำนาญชราภาพ วันนี้ต้องสร้างแล้ว ถ้าไม่สร้างเรื่องนี้ไทยไม่มีทางจะพัฒนาแบบการเจริญเติบโตอย่างกว้างขวางทั่วถึง เพราะไม่เคยทั่วถึง

ที่รัฐบาลบอกเศรษฐฟุบ 6-9 เดือน ฟุบแน่นอน เพราะการท่องเที่ยวเห็นอยู่แล้วว่าหลายเดือนแน่ ถ้าเอาเงิน 4 แสนล้านมาให้คนพวกนี้รวมกลุ่มกันเสนอโครงการ บอกรายละเอียดจะปรับตัว ลงทุนอย่างไร จะฟื้นเร็วกว่าที่รัฐบาลกลัว

แต่คำตอบไม่ใช่มาจากนักวิชาการ จากส่วนกลาง จากราชการส่วนกลาง แต่ต้องมาจากคนในพื้นที่

ข้อเสนอรับมือเศรษฐกิจซึมยาว

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

ผลกระทบจากโรคโควิด-19 จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และต้มยำกุ้ง ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งไม่ได้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกแต่กระทบระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น ครั้งนี้จึงรุนแรงกว่าทั้งสองวิกฤต

มีการวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะติดลบประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์ หากมองแง่ดีตัวเลขอาจต่ำกว่านี้ได้ และหากมองภาพทั้งโลกตัวเลขของยุโรปกับสหรัฐอเมริกาอาจติดลบ 5-8 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ารุนแรง

ของไทยบ้างวิเคราะห์ว่าจะติดลบ 4-6 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่ชัดเจนเพราะสถานการณ์ยังไม่แน่นอน เพราะสถานการณ์โควิด-19 ไม่รู้จะจบเมื่อไร หากมองแง่ดีจะเริ่มคลี่คลายช่วงครึ่งปีหลัง หมายความว่าประเทศต่างๆ เริ่มขยับเรื่องล็อกดาวน์ มีการผ่อนปรนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวบ้าง การควบคุมโรคคุมได้ระดับหนึ่ง

จึงเป็นที่แน่นอนว่าปีนี้ทั้งปีตัวเลขติดลบแน่นอน แต่ปีหน้าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้จะอยู่ที่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์

ที่ต้องประเมินต่อคือยุโรป ถ้าติดลบ 5 เปอร์เซ็นต์จะฟื้นตัวปีหน้า ติดลบ 7-8 เปอร์เซ็นต์ ฟื้นตัวปี 2022 ติดลบ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์จะฟื้นตัวปี 2023 แต่วิเคราะห์กันว่าน่าจะเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ ก็จะฟื้นตัวปีหน้า ซึ่งไทยก็จะอยู่ในกรอบเดียวกันถ้าควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้

เศรษฐกิจไทยปีนี้ก็จะติดลบ 5-7 เปอร์เซ็นต์ แต่ปีหน้าจะฟื้นตัวขยายตัวได้ 2-3 เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐบาลต้องระวังไม่ให้โควิด-19 บานปลาย เพราะจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจช้าลง

มาตรการเยียวยาประชาชนครอบคลุมระดับหนึ่งแล้ว รัฐบาลเตรียมงบประมาณปกติเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจแต่ต้อง เตรียมแผนสอง เนื่องจากการบริหารเรื่องพวกนี้อาจมีอะไรที่ผิดปกติไปบ้าง อาจต้องเตรียมงบประมาณมารองรับด้วย

รัฐบาลผ่านกระบวนการต่อสู้กับโรคแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการที่สอง เรียกว่ารอยต่อ คือต่อสู้กับโรคได้ระดับหนึ่งแล้ว เริ่มปล่อยให้กิจการต่างๆ ฟื้นตัว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก อย่าให้การฟื้นตัวไปกระทบกับโรค

จากนี้ขั้นตอนต่อไปรัฐบาลต้องสร้างเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างแข็งแรง ส่วนนี้ต้องมีงบประมาณมารองรับและต้องวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค กำหนดผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ใช้จินตนาการในการพัฒนาให้เศรษฐกิจเติบโตได้แข็งแรง

การฟื้นตัวในส่วนของประชาชนก็มีความจำเป็น รัฐบาลทำอย่างเดียวไม่เพียงพอ ดังนั้น เรื่องนี้ในประเทศที่ฟื้นตัวเร็วจะมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ความร่วมมือทางสังคม แบ่งเป็นความร่วมมือของประชาชน และความร่วมมือขององค์กรธุรกิจ คือ รัฐบาลช่วยส่วนหนึ่ง และเอกชนช่วยด้วยอีกส่วนหนึ่ง

ส่วนการเตรียมตัวด้านการเงิน เอกชนต้องเตรียมตัวป้องกันภัยตนเอง 2 เรื่อง คือ บริหารธุรกิจภายใต้กฎเกณฑ์ของตัวเองโดยไม่ต้องรอรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบระลอกสอง และการพยายามบริหารให้เกิดสภาพคล่อง มีประสิทธิภาพ

จากนี้ระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลงคล้ายกัน เป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะถาวร เช่น เรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน และการใช้เพื่อการเรียนรู้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน