คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่กระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าภาพ เห็นชอบร่างเอกสารความเห็นร่วม เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และแนวทางการ จัดทำร่างสัญญาประชาคมแล้ว

เตรียมเปิดเวทีสาธารณะอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.-7 ก.ค. ในพื้นที่ 4 กองทัพภาค ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช

จากนั้นก็จะนำมาสรุปจัดทำร่างประชาสังคมฉบับสมบูรณ์ เสนอคณะการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ต่อไป

ประมาณกลางเดือนก.ค.ก็จะเห็นแนวทาง

สําหรับประเด็นที่จะนำเสนอในเวทีสาธารณะนั้น โฆษกกระทรวงกลาโหมระบุว่าจะเร่งสร้าง ความรับรู้และความเข้าใจ เพื่อไม่ให้ขยายผลไปสู่ความขัดแย้ง หรือถูกใช้เป็นเงื่อนไขขยายปัญหา

โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย ที่จะต้องยึดถือและปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และกำหนดความตกลงร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่สุ่มเสี่ยงที่จะขยายไปสู่ความรุนแรงอีก

เชื่อว่าแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดอง จะบรรลุความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความเชื่อมั่นและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน รวมถึงการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายผลประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติเป็นหลัก

ทั้งหมดนี้ เป็นความตั้งใจดีที่คณะกรรมการอยากให้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยร้าวลึกเกินกว่าจะยุติด้วยสร้างความตกลงกันหรือสัญญาประชาคมใดๆ เนื่องจากบางปัญหาถูกฝังกลบไว้เพื่อให้ลืมโดยไม่ยอมแม้จะให้พูดถึง จนกลายเป็นความคับแค้นที่ยากจะแก้ไข

ต้องยอมรับว่าความรุนแรงในทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันกองทัพเองก็เป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งด้วย และจะต้องนำกรณี ที่เกิดขึ้นมาสรุปเป็นบทเรียน เพื่อมิให้เกิดขึ้นอีกเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ปัญหาทางการเมือง ที่ใช้กำลังดำเนินการทั้งสองครั้งหลังเพื่อหวังยุติ พร้อมกับสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ ก็กลับเป็นเงื่อนไขที่เป็นปมความขัดแย้งใหม่ขึ้นตามมาเรื่อยๆ และขยายวงต่อจนไม่มีทีท่าจะจบสิ้น

การยอมรับผิดในสิ่งที่ได้กระทำลงไปของทุกๆ ฝ่าย ไม่ใช่แค่โทษเพียงฝ่ายหนึ่ง จะเป็นบันไดสู่ความปรองดองเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน