FootNote : มาตรการเข้มทาง “เศรษฐกิจ” แปรสู่ ประเด็นทาง “การเมือง”

แรกที่มีการใช้มาตรการ “เข้ม” ภายใต้การประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน มีการเสนอสโลแกน “สุขภาพเหนือเสรีภาพ”
เป้าหมายอย่างแท้จริงก็เพื่อสยบปัญหา “การเมือง”
หากติดตามบทบาทของรัฐบาล บทบาทของพรรคพลังประชารัฐก็จะเห็นอย่างเด่นชัดว่า ต้องการสยบฝ่ายค้านไม่ว่าในหรือนอกสภา
นั่นก็คือ สยบมิให้ออกมาต่อต้าน โดยใช้ประเด็นว่าอย่าขยายปัญหาสุขภาพเป็นปัญหาทางการเมือง อย่าฉวยโอกาสทาง การเมืองผ่านกระบวนการโจมตีรัฐบาล
ในเบื้องต้นของสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถสยบฝ่ายค้านได้ในระดับที่แน่นอนหนึ่ง แต่พลันที่ปัญหาอันเนื่องจากมาตรการ “เข้ม” ส่งผลสะเทือนในทางเศรษฐกิจก่อความเดือดร้อน
ปัญหาจากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจก็เริ่มส่งผลในทางการเมือง

หากรัฐบาลไม่เข้าข้างตัวเองมากจนเกินไปนัก หากพรรคพลังประชารัฐยอมรับในความเป็นจริง ก็จะรู้สึกว่าการยืดและขยายเวลาในการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินออกไป
เริ่มมีปัญหา เริ่มมีเสียงคัดค้าน ต่อต้าน รุนแรง กว้างขวางยิ่งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
กระทั่งในที่สุดรัฐบาลเองก็เริ่มตระหนักในความจำเป็นที่จะต้องมีการคลายล็อก ไม่เพียงแต่ตามข้อกำหนดที่เคยวางเอาไว้หากแต่ด้วยอัตราเร่งอย่างเป็นพิเศษ
ประกอบกับผลสำเร็จจากการต่อสู้กับไวรัสในด้านสาธารณสุขประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
แต่ปัจจัยอันเป็นตัวเร่งและเรียกร้องให้เห็นความจำเป็นต้องคลายล็อคในอัตราเร่งอย่างเป็นพิเศษมาจากสภาพความเป็นจริงที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในทางเศรษฐกิจ
ปัญหาในทางเศรษฐกิจนั้นเองที่กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนและกดดันอย่างรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองในที่สุด

จากนี้จึงเริ่มสัมผัสได้ในทางรูปธรรมว่า การพยายามแยกส่วนระหว่าง “สุขภาพเหนือเสรีภาพ”นั้นอาจมีความเหมาะสม
เมื่อสังคมตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อการรุกไล่ของไวรัส
แต่พลันที่มาตรการ “เข้ม” ในเรื่องสุขภาพในเรื่องสาธารณสุขผ่านไปในระยะหนึ่ง ความหวังที่จะใช้มาตรการ “เข้ม” อย่างชนิดยาวนานก็หมดความจำเป็น
เพราะว่ามาตรการ “เข้ม” มีผลกระทบในทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาของ “สุขภาพ” ก็จะกลายเป็นปัญหาของ “เศรษฐกิจ”
และยกระดับไปสู่ปัญหาของ “การเมือง” อย่างเลี่ยงไม่พ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน