โอกาสสุดท้าย

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

โอกาสสุดท้าย – วาระครบรอบ 75 ปีสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2 เพิ่งผ่านพ้นไป พร้อมกับการเปรียบเทียบสภาพความถดถอยของเศรษฐกิจปัจจุบันจากผลกระทบโควิด-19 ว่าอาจร้ายแรงกว่าในอดีต

ภาคเศรษฐกิจที่สะเทือนชัดเจนที่สุดอันดับต้นๆ ในหลายประเทศทั่วโลก คือภาคการ ท่องเที่ยวและธุรกิจการบิน

บริษัทสายการบินแห่งชาติหลายประเทศต่างขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล รวมถึงการบินไทย

อย่างไรก็ตามการบินไทยแตกต่างจากสายการบินประเทศอื่นๆ คือการก่อตัวของปัญหาเรื้อรังและรุงรังมานานแล้ว

ผู้นำประเทศระบุเองว่าให้เวลาการแก้ไขมา 5 ปีแล้วยังไม่สำเร็จ

คําประกาศล่าสุดจากนายกรัฐมนตรีที่เคย ให้โอกาสบริษัทการบินไทยตั้งแต่เป็นผู้นำ คสช. ระบุว่าโอกาสครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายในการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุน

โอกาสที่เอ่ยถึงหมายถึงเงินก้อนใหญ่กว่า 5 หมื่นล้านบาทที่กระทรวงการคลังจะค้ำประกันเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้การบินไทย ส่วนหนึ่งจะใช้สำหรับการชำระหนี้ปีนี้

ส่วนแผนฟื้นฟูการระยะที่ 2 ที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเห็นชอบ เป็นการเพิ่มทุน 8 หมื่นล้านบาท และการปรับโครงสร้างบริษัท ครั้งใหญ่ เพื่อให้การบินไทยยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติและรัฐวิสาหกิจ

คำถามคือประชาชนผู้จ่ายภาษีเห็นด้วยกับแผนต่างๆ ทั้งหมดหรือไม่

ระหว่างที่รัฐบาลให้โอกาสการบินไทย เสียงที่ดังไปถึงรัฐบาลมากที่สุดมาจากเหล่า ผู้บริหารการบินไทยที่นำเสนอแผนฟื้นฟู และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ที่ทำหนังสือแสดงจุดยืนเห็นด้วยกับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขององค์กร

แต่ระบุว่าต้องไม่กระทบกับสภาพการจ้างของพนักงานบริษัท

ขณะที่การบินไทยประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2562 ด้วยหลักหมื่นล้านบาท กลับมีการอ้างความผิดพลาดว่าเกิดขึ้นเพราะนโยบายรัฐบาลตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน

เป็นอีกครั้งที่สะท้อนว่าปัญหาของการบินไทยถูกโยงไปถึงการเมืองบ่อยครั้ง จนปิดบังและบดบังการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

หากจะปล่อยให้การเมืองมีส่วนในการตัดสินใจ รัฐบาลควรฟังเสียงประชาชนให้ชัดๆ ว่าการบินไทยควรได้โอกาสสุดท้ายนี้หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน