ลดความอึมครึมลงไปได้มาก

กรณีเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ ร่วมกันจับกุม นายวัฒนา ภุมเรศ ลุงวิศวกรไฟฟ้า วัย 62 ปี อดีตพนักงาน กฟผ.

คลี่คลายเหตุระเบิดกรุงทีเดียว 6 คดีรวด แยกเป็น 3 ครั้งเมื่อปี 2550 และ อีก 3 ครั้งในปี 2560 โดยเฉพาะระเบิดห้องวงษ์สุวรรณ ภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

เบื้องหลังไม่เกี่ยวกับขบวนการต่อต้านทางการเมืองใดทั้งสิ้น

ตามที่เจ้าตัวรับสารภาพชนิดหมดเปลือก ระเบิดทั้ง 6 ครั้ง ทำไปเพราะอุดมการณ์ส่วนตัว ในรูปแบบที่เรียกกันว่า “โลน วูล์ฟ” คิดเอง ทำเองคนเดียว ไม่มีใครหนุนหลัง

เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ เพราะทำให้ประเทศชาติประสบความหายนะทางเศรษฐกิจ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน

รวมถึงความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ 6 ศพวัดปทุมวนาราม ในการสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่เป็นแรงขับให้ตัดสินใจลงมือระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าซึ่งเป็นของทหาร เพื่อต้องการล้างแค้น

สรุปจบแบบ “หักมุม” ทำเอาคนเคย “มโน” ว่าเป็นฝีมือขบวนการสีเสื้อกลุ่ม “ฮาร์ดคอร์” เชื่อมโยงไปถึง “คนแดนไกล” ต้องผิดหวังไปตามกัน

แต่คดีที่มี “การเมือง” อยู่เบื้องหลัง ร้อยเปอร์เซ็นต์ และกำลังขยับใกล้จุด “ไคลแม็กซ์” เข้ามาทุกขณะ

ก็คือคดีโครงการรับจำนำข้าวที่บีบคั้นให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องต่อมน้ำตาแตก ในวันเกิดครบรอบ 50 ปี

กระตุกอารมณ์เหล่าแฟนคลับทั้งในเพจและนอกเพจเฟซบุ๊กนับล้านคน ให้สะเทือนใจไปกับชะตากรรมอดีตนายกฯหญิง ที่ตกเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียวตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่โดนทหารปฏิวัติโค่นอำนาจ ถูกถอดถอนซ้ำๆ ซากๆ ตามมาด้วยตกเป็นผู้ต้องหาคดีโครงการรับจำนำข้าว และคำสั่ง ม.44 ให้กรมบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์ 3.5 หมื่นล้านบาท

ตามโรดแม็ปลุ้นระทึกคดีจำนำข้าว เหลือไต่สวนพยานจำเลยอีกแค่ 3 นัด คือ วันที่ 29 มิถุนายน วันที่ 7 กรกฎาคม และนัดสุดท้ายวันที่ 21 กรกฎาคม

จากนั้นจะเป็นขั้นตอนให้คู่ความใช้สิทธิแถลงปิดคดี เสร็จสิ้นแล้วคาดว่าศาลจะมีคำพิพากษาออกมาอย่างช้าภายในเวลาไม่เกิน 1 เดือน

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ช่วงปลายเดือนสิงหาคม ถึงต้นเดือนกันยายน

น่าจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเมืองสำคัญอีกครั้ง

ชะตากรรมอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย

ดูเหมือนสวนทางกับ “ผู้มีอำนาจ” ปัจจุบันที่นับวันยิ่งแข็งแกร่ง นับวันยิ่งมั่นใจ

สะท้อนได้จากการออกคำสั่งมาตรา 44 “ปลดล็อก” 2 เรื่องใหญ่ด้วยกัน

เรื่องแรก ปลดล็อกโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ยืดเยื้อมานานเป็นปีๆ เรื่องที่สอง ปลดล็อกผ่อนผันให้ใช้ที่ดินส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ด้านพลังงาน และสำรวจทำเหมืองแร่

ทั้งสองคำสั่งมาตรา 44 ออกมาไล่เลี่ยห่างกันไม่กี่วัน ถูกวิจารณ์ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญ วิศวกร สถาปนิก นักวิชาการ ภาคประชาชน ตลอดจนนักการเมืองขั้วค่ายต่างๆ

ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยไม่รอบคอบ อาจส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติในระยะยาว โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงชาวบ้านตาดำๆ

ขนาด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเห็นดีเห็นงามมาตลอด ครั้งนี้ก็ยังอดเหน็บแนมไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาเห็นแต่ใช้ม.44 ช่วยเหลือรัฐด้วยกันเอง ไม่เคยเห็นใช้ ม.44 เพื่อช่วยประชาชน

แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอะไรได้

การเตรียมรื้อฟื้นแนวทาง “ครม.สัญจร”

ด้วยการให้นายกฯ นำทีมรัฐมนตรีลงพื้นที่ พบปะรับฟังประชาชนโดยตรง เบื้องต้นตั้งเป้าไว้ใน 6 ภูมิภาค แต่มีแนวโน้มความเป็นไปได้ อาจขยายไปยัง 18 กลุ่มจังหวัดครอบคลุมทั่วประเทศ

โดยครม.สัญจรนี้ จะไม่นับรวมกับโปรแกรมทัวร์ต่างจังหวัดของพล.อ.ประยุทธ์ที่ทำประจำทุกเดือน อย่างล่าสุด จ.ขอนแก่น ที่ไปส่งเสียงออดอ้อนชาวอีสาน

ให้รักน้อยๆ แต่ขอให้รักนานๆ

บวกกับพฤติกรรมลดโทนแข็งกร้าวกับสื่อ ยอมร่วมวงจับเข่าคุยแบบเปิดอก

ทั้งหลายทั้งปวงขมวดรวมเป็นข้อสังเกต รัฐบาลทหารกำลังเล่นเกมช่วงพรรคการเมืองถูกทำให้ “อ่อนแอ” เดินหน้าช่วงชิงมวลชน ตุนคะแนนเสียงเพื่อประโยชน์ทางการเมืองบางอย่าง

หลังสิ้นสุดโรดแม็ปในปีหน้าหรือไม่

นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายนที่ผ่านมา

และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก 10 ฉบับ โดยเฉพาะ 4 ฉบับที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้ง

ร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กับร่างพ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ยังเป็นร่างกฎหมาย 2 ฉบับสำคัญของรัฐบาลคสช.

เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 1 ในแม่น้ำ 5 สาย ได้พิจารณาลงมติผ่านร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับสำคัญดังกล่าวในวาระ 3 เป็นที่เรียบร้อย

ประเด็นสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คือกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ขึ้นมา 1 ชุด มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

นอกจากให้มีปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. เลขาธิการสภาความมั่นคงฯ ร่วมนั่งเป็นกรรมการด้วย

มีอำนาจหน้าที่จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเสนอครม. เสนอความเห็นต่อรัฐสภา หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ กำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอด คล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ฯลฯ เป็นต้น

ใครฝ่าฝืนไม่ทำตาม อาจได้รับโทษถึงติดคุก

ส่วนร่างพ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ สาระสำคัญคือ การกำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ จำนวน 11 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา

ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติฯ ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม และด้านอื่นตามที่ครม.กำหนด

โดยคณะกรรมการแต่ละด้านจะมีไม่เกิน 13 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี

ตรงนี้เองนำมาสู่การวิเคราะห์ตอนหนึ่งของนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักวิชการ อดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลาฯ ที่ชี้ว่า

นอกจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งออกแบบมาเพื่อจำกัดพื้นที่อำนาจนักการเมือง ผ่านระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม”

พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ กับพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ยังเป็นอุปสรรคทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถกำหนดนโยบายของตนเองเพิ่มได้เลย และอาจต้องกลายเป็น “ผู้สืบทอด” นโยบายคสช.เสียเอง

อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แทบจะทำไม่ได้

เมื่อบวกกับช่วงรัฐบาลทหารปกครองโดยตรงแล้ว อาจกล่าวได้ว่าการกุมอำนาจของชนชั้นนำของภาครัฐคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี

เป็นการวิเคราะห์ ที่แค่คิด ก็น่าสยดสยองอย่างยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน