พ้นผิดลอยนวล

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

พ้นผิดลอยนวล – เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมนับเป็นประวัติศาสตร์เลือดของประเทศไทย ที่ประชาชนถูกสังหารกลางเมือง เวียนมาบรรจบให้รำลึกถึงความสูญเสียอีกครั้ง ปีนี้ตรงกับครบรอบ 28 ปี พฤษภาคม 2535 และครบ 10 ปี พฤษภาคม 2553

แม้เหตุการณ์ทั้งสองห้วงกาล จะห่างกันถึง 18 ปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้น พฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้มีอำนาจต่อประชาชน มีความละม้ายคล้ายคลึงกันจนแทบจะถอดแบบเดียวกันมา

นั่นคือ ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ถูกล้อมปราบด้วยอาวุธสงคราม ยานเกราะ ตลอดวิธีการต่างๆ นานาจากเจ้าหน้าที่กลุ่มเดียวกัน

ที่น่ายินดีก็คือปีนี้ มีความตื่นตัว ทวงถามความจริงอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

เหตุการณ์แรก เป็นการชุมนุมเรียกร้องไม่ต้องการนายกรัฐมนตรีคนนอก แม้จะมีพรรคการเมืองบางพรรคร่วมกันสนับสนุน แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน จนนำสู่การใช้กำลังทหารปราบปราม ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41 ราย สูญหาย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

เหตุการณ์หลัง เป็นการชุมนุมเรียกร้องของ มหาชนให้รัฐบาลขณะนั้นยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลขณะนั้น มีความไม่ชอบมาพากล

เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากมีการสั่งใช้กำลังกับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องตลอดการชุมนุม มีผู้บาดเจ็บล้มตายตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน -19 พฤษภาคม 2553 รวมแล้ว 99 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 2 พันชีวิต

อันเป็นการล้อมปราบที่โหดร้ายและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

สําหรับเหตุการณ์แรก ผู้นำในขณะนั้นใช้อำนาจออกกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฝ่าย จนไม่อาจนำไปสู่การไต่สวนดำเนินคดี เอาผิด ผู้สั่งการ ตลอดจนผู้ลงมือได้จนกระทั่งบัดนี้

แต่ก็นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงการเมืองใหญ่ๆ นั่นคือกำหนดให้นายกฯ มาจากส.ส. และมีรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ที่เป็นธงชัยนำประเทศไทยสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

สำหรับเหตุการณ์หลัง แม้จะรู้ตัวผู้สั่งการ ผู้ลงมือ ตลอดจนขบวนการสร้างความชอบธรรมในการปราบปราม แต่ยังไม่อาจนำไปสู่การ กระบวนการชำระสะสางความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจนบัดนี้

ข้อเรียกร้องเรื่องการทำความจริงให้ปรากฏ ผู้เกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชน ต้องไม่พ้นผิดลอยนวลอีกต่อไป จึงต้องทำให้เกิดขึ้นจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน