คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การทำงานของคณะกรรมการเตรียมการ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองแจ้งความ คืบหน้าที่พร้อมจะตั้งเวทีนำเสนอร่างสัญญาประชาคมในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

นอกจากร่างนี้จะมีที่มาจากคณะอนุกรรมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองชุดต่างๆ เต็มไปด้วยบุคคลในกองทัพและกระทรวงกลาโหม ไม่ว่า ชุดรับฟังความคิดเห็น ชุดพัฒนาบูรณาการข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ชุดจัดทำข้อเสนอกระบวนการ และชุดประชาสัมพันธ์

การนำเสนอร่างด้วยการเปิดเวทีสาธารณะยังจะเป็นไปตามพื้นที่แต่ละกองทัพ 4 ภาค โดยมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

จึงน่าคิดว่าประชาชนจะเข้าร่วมมากน้อยเพียงใด

การใช้บุคลากรทางกองทัพและกลาโหมมาขับเคลื่อนการปรองดองสามัคคี แม้มีคำอธิบายว่าเหมาะสมในเรื่องความเป็นกลาง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปกตินัก

โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง และการหยุดชะงักของประชาธิปไตย มีหน่วยงานความมั่นคงเกี่ยวข้องในระดับสูง

ในขณะที่กระบวนการปรองดองหรือการทำร่างสัญญาประชาคมต้องอาศัยกลไกและกระบวนการทางประชาธิปไตย จึงจะทำให้เกิดความสมัครใจ ความร่วมมือ และความเห็นชอบในจุดร่วมกันของประชาชนหลากหลายกลุ่ม

ไม่เช่นนั้นแล้ว สัญญาประชาคมจะเป็นเพียงกฎเกณฑ์หรือพิธีกรรมหนึ่งที่มาจากคณะบุคคลอันจำกัด

แนวทางที่ระบุว่าการดำเนินการสร้างความปรองดองนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน หากมีสิ่งใดที่เกิดความขัดแย้งจะไม่ทำนั้น เป็นเรื่องที่ตัดสินได้ยากมาก ทั้งในเรื่องประเด็นและระดับของความขัดแย้ง

ส่วนความหวังที่จะให้ทุกคนร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อร่างสัญญาประชาคม เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นนั้น ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ในเมื่อแนวทางการกำกับและควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ถูกจำกัดโดยกลไกของรัฐและข้าราชการ

หากมองอย่างตรงไปตรงมาแล้ว การควบคุมตามความเข้าใจว่าปรองดองคือสงบเรียบร้อย ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับกระบวนการประชาธิปไตยที่ต้องสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน