FootNote:สงครามความคิดสงครามสื่อ ผ่านวาระครอบ 6 ปี รัฐประหาร

ปรากฎการณ์ “ประท้วง” ของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ในวาระ 6 ปีของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แม้จะเกิดขึ้น ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 อย่างเด่นชัด

ไม่ว่าจะบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะบริเวณหน้าหอศิลป์ กทม.

หรือแม้กระทั่งที่นครศรีธรรมราช และที่ขอนแก่น

แต่มีการรายงานผ่านสื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์น้อยมาก และดำเนินไปเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นในทางการเมือง

ตรงกันข้าม ข่าวสารกลับไหลทะลักออกทางสื่อออนไลน์ ออกทางอินเตอร์เน็ต และก็แพร่กระจายออกไปเหมือนกับเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว

รวดเร็วเหมือนกับปฏิบัติการฉายแสงเลเซอร์ เหมือนกับกรณีของ #ตามหาความจริง

นี่คือ ดัชนีชี้ให้เห็นจุดเปลี่ยนอย่างสำคัญในแวดวง”สื่อ”

ถามว่าอะไรคือเป้าหมาย อะไรคือจุดหมายปลายทางของการแสดงออกของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประสานเข้ากับประชาชนในทางการเมือง

ตอบได้เลยว่า เป็นการสื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นอุณหภูมิใน ทางความคิด

เท่ากับตีประเด็น”ความคิด”ในลักษณะ”อำนาจนำ”

เมื่อสถานการณ์ไม่อำนวยให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองได้อย่างคล่องใจก็อาศัยช่องทางทางด้าน”สื่อ”เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจาย “ความคิด”

การอาศัยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉินมาจัดการ เสมอเป็นเพียงอำนาจในทาง”กายภาพ”ไม่อาจทำให้กระบวนการกระจาย”ความคิด”ดับสูญไปภายในพริบตา

เพียงมีช่องทางใดช่องทางหนึ่ง”ความคิด”นั้นก็ได้รับการแพร่ ออกไปได้อย่างรวดเร็ว ยืนยันถึงความไร้ประสิทธิภาพในการปิดกั้น

เพราะในความเป็นจริงบทบาทของ”สื่อเก่า”อยู่ในฐานะอันเป็นรองเมื่อเปรียบเทียบกับพลานุภาพของ”สื่อใหม่”

เด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่า การต่อสู้ในทางการเมืองในยุคใหม่ ยุคแห่ง เทคโนโลยีมิได้เป็นเรื่องของการชุมนุมหรือแสดงออกแบบอึกทึกครึกโครมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ตรงกันข้าม เป็นการสำแดงผ่าน “เทคโนโลยี” เป็นการสำแดงผ่าน “สื่อ”อันเป็นกลไกแห่งเทคโนโลยี

เริ่มจาก”ความคิด”พัฒนาและยกระดับสู่”การเมือง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน