คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพเผยว่ามีภารกิจต้องสรุปจำนวนชนิดยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาในกองทัพไทยว่ามีจำนวนเท่าใดให้เสร็จสิ้น

เพราะจะเป็นข้อมูลประกอบการเยือนสหรัฐอเมริกาของผู้นำไทย ตามคำเชิญของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่อาจเป็นในเดือนกรกฎาคม หรือหลังจากนั้น

ข้อมูลดังกล่าวนี้จะมีรายละเอียดว่า ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาเคยสนับสนุนกองทัพไทยอย่างไรบ้างในอดีต และฝ่ายไทยคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนเรื่องใด หรืออาวุธใดบ้าง ทั้งยุทโธปกรณ์ที่เป็นฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์

ทริปนี้จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง หลังมีการตั้งงบประมาณปี 2561 ในส่วนของกลาโหมเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 เกือบร้อยละ 4.2 คิดเป็นจำนวน 2.22 แสนล้านบาท

จากข้อมูลของกระทรวงกลาโหมว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเคยแจ้งกับฝ่ายสหรัฐแล้วว่า ประสิทธิ ภาพของอาวุธสหรัฐดีมาก จึงอยากได้อาวุธของสหรัฐ

ในฐานะที่สหรัฐกับไทยเป็นพันธมิตรร่วมกันมาช้านาน จึงมุ่งให้เกิดความร่วมมือในการจัดหา ร่วมกัน

ยุทโธปกรณ์บางประเภทที่มีอยู่ หากชำรุดหรือต้องการซ่อมบำรุง กลับไม่มีอะไหล่ จึงใช้การไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็น เฮลิคอปเตอร์ ชีนุก เฮลิคอปเตอร์โจมตีคอบร้า และเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์ก ที่ต้องการซ่อมบำรุงและอะไหล่

ขณะเดียวกัน กองทัพไทยยังระบุถึงการถ่วงดุลด้วยการซื้ออาวุธจากจีนที่จะนำบทเรียนจากสหรัฐมาพิจารณาด้วย

เงื่อนไขในการซื้ออาวุธที่พบจากกรณีของสหรัฐ ทำให้ฝ่ายไทยต้องคิดถึงการซ่อมบำรุง อะไหล่และการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากขึ้น

เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ต้องหยุดชะงัก หากประเทศไทยเกิดสถานการณ์ที่เป็นเงื่อนไขบั่นทอนความเป็นพันธมิตรกับชาติผู้นำประชาธิปไตยอย่างสหรัฐ

แม้ว่าเงื่อนไขดังกล่าวนี้อาจมีแนวโน้มลดความสำคัญลงในรัฐบาลสหรัฐชุดนี้ แต่หลักการดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่สหรัฐจะทิ้งหรือมองข้ามได้

ในเดือนกรกฎาคมนี้อาจจะเห็นได้ ชัดยิ่งขึ้น เพราะมีวันชาติสหรัฐที่ชาวอเมริกันจะรำลึกถึงคำประกาศอิสรภาพที่เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน