คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

กรณีราษฎรชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ถูกไม้พะยูงล้มทับบ้านพักอาศัย ได้รับความเสียหาย จนต้องย้ายไปอยู่กับลูกหลานตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน

จะตัดโค่นออกเองก็เกรงว่าจะมีความผิดตามกฎหมาย อาจถูกดำเนินคดีถึงขั้นปรับและจำคุก เนื่องจากไม้พะยูงเป็นหนึ่งในไม้หวงห้าม

ครั้นไปติดต่อเจ้าหน้าที่ก็ถูกเรียกหาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่เนื่องจากเอกสารดังกล่าวนำไปจำนองกับธนาคาร จึงยังไม่สามารถดำเนินการต่อ จนเวลาผ่านเนิ่นนานมาหลายเดือน

เจ้าของบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างมากกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข

ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ระบุไม้หวงห้ามประเภท ก. มีทั้งหมด 5 ชนิด คือ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง และไม้กระพี้เขาควาย

โดยมีชื่อที่เรียกตามพื้นถิ่นของแต่ละภาครวม 17 ชื่อ ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย

ผู้ใดมีไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ก็จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-2,000,000 บาท และจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

เจตนารมณ์เพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าโดยผิดกฎหมาย

ยังดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบถึงความเดือดร้อนดังกล่าว จึงประสานงานไปยังตำรวจภูธรในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือจนเสร็จเรียบร้อยภายใน 1 วัน เนื่องจากต้นไม้ที่โค่นล้มเองเพราะธรรมชาติเข้าข่ายไม้ล้มขอนนอนไพร ไม่ใช่กรณีลักลอบตัดไม้

ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ชี้แจงว่ากรณีดังกล่าวสามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ นำเอกสารสิทธิในที่ดินมาแสดง ถ้าไม่มีก็แจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ แล้วให้เจ้าหน้าที่ช่วยดำเนินการให้

แต่ผู้ได้รับความเดือดร้อนรายนี้ต้องเดือดร้อนนานหลายเดือน กว่าจะได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากข้อกฎหมาย

จึงต้องนับเป็นเหตุการณ์ตัวอย่าง ที่ กระทรวงทรัพยากรฯ ควรนำไปเผยแพร่ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ โดยคาดว่ายังคงมีกรณีแบบนี้อีกหลายราย รวมทั้งในภายภาคหน้าด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน