FootNote:ป้ายผ้า‘เผด็จการ’จงพินาศ หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อุบัติแห่งป้ายผ้า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ณ บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย

เมื่อเปรียบเทียบกับการอุบัติขึ้นของป้ายผ้า”6 ปีรัฐประหาร” ณ พื้นที่เดียวกันเมื่อ 10 กว่าวันก่อน

เพราะเมื่อป้ายผ้า”6 ปีรัฐประหาร”ปรากฏ ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ก็ถูกสกัดขัด ขวางจากเจ้าหน้าอย่างเต็มเรี่ยวแรง

ขณะที่เมื่อป้ายผ้า”เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ปรากฏไม่ปรากฏการณ์สกัดขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอย่างทันทีทันใด

นั่นเพราะมิได้ปรากฏเป็นข่าวหรือมีเบาะแสมาก่อน จึงไม่มีเสียงสำทับจากทำเนียบรัฐบาลและจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ แม้ว่าบนป้ายผ้านั้นจะประกาศกึกก้องด้วยประโยค

“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”

แท้จริงแล้ว ป้ายผ้า”เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”มี ความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ประหารชีวิต นายครอง จันดาวงศ์ เมื่อ เดือนพฤษภาคม 2504 อย่างแนบแน่น

1 เป็นเรื่องราวอันเกิดขึ้นในยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 ในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

1 เป็นการกล่าวหาและตั้งข้อหา “คอมมิวนิสต์”

1 เป็นการกล่าวหาต่อ นายครอง จันดาวงศ์ ซึ่งเคยเป็นครูและเป็นเสรีไทยในสายของ นายเตียง ศิริขันธ์ เคยเป็น ส.ส.จากจังหวัดสกลนคร

1 เป็นการตั้งข้อหาตามพรบ.คอมมิวนิสต์และถูกประหารด้วยอำนาจมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองโดยไม่มีการพิจารณาในศาลสถิตยุติธรรม

เป็นอำนาจคล้ายกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญหลังการรัฐ ประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นที่มาของ”เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”

สถานการณ์ป้ายผ้า”เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกันกับการที่ตำรวจผิวขาวเหยียบหน้าคนผิวดำแห่งสหรัฐอเมริกาก่อให้เกิดการจลาจลใหญ่หลายสิบเมือง

สะท้อนความเหลื่อมล้ำ สะท้อนการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันของเจ้าหน้าที่ต่อพลเมือง

กรณีของ นายครอง จันดาวงศ์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2504 กรณีป้ายผ้า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”สะท้อนภาวะไม่ปกติของการเมืองในยุคเดือนพฤษภาคม 2563

ปรากฏการณ์นี้โยง”อดีต”มาเตือน”ปัจจุบัน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน