FootNote:สถานะเกียรติภูมิ ‘ทักษิณ’ หลังสถานการณ์โควิด-19

การแสดงความเห็นต่อภูมิทัศน์ของโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 กำลังกลายเป็นเรื่องธรรมดาอย่างปกติ ยิ่งของโลกในยุค “โพสต์”โควิด

แต่กล่าวสำหรับประเทศไทย การที่มีชื่อของ นายทักษิณ ชินวัตร ปรากฏอยู่ด้วยย่อมเป็นเรื่องในแบบ”อ-ปกติ”

มองจากสภาพการดำรงอยู่ของ นายทักษิณ ชินวัตร หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา การที่จะได้รับเชิญจากองค์การระหว่างชาติให้แสดงความเห็น

เป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้เพราะว่าชีวิตของ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นชีวิตที่ดำรงอยู่ในสถานะแห่งความเป็นพลเมืองแห่งมนุษยพิภพ มิได้เป็นประชากรเฉพาะถิ่น

กระนั้น เมื่อ นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับเกียรติในระดับนานาชาติ กระบอกตาหลายกระบอกตาภายในสังคมประเทศไทยก็ร้อน ผ่าวขึ้นโดยอัตโนมัติ

โดยเฉพาะคนที่ปรารถนาจะแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย

คำถามอันเกิดขึ้นต่อกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร ก็เหมือนกับคำ ถามอันเกิดขึ้นต่อกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกำลังเกิดขึ้นกับกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

นั่นก็คือ เหตุใดการได้รับเกียรติจากสังคมระหว่างประเทศในทางสากลของ นายทักษิณ ชินวัตร จึงกลายเป็นปัญหา

โดยเฉพาะปัญหาภายในสังคมประเทศไทยอย่างแหลมคม

คำตอบย่อมย้อนกลับไปถึงการเคลื่อนไหวในห้วงก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 การเคลื่อนไหวในห้วงก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

และการเคลื่อนไหวก่อนและภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 อันทรงความหมายยิ่งในทางการเมือง

นั่นก็คือ ความหวาดกลัว นั่นก็คือ ความริษยาอาฆาต

ความหวาดกลัวต่อ นายทักษิณ ชินวัตร ความริษยาอาฆาตต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และต่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

นี่คืออารมณ์ที่ดำรงอยู่อย่างร้อนรุ่มภายในสังคมไทย

ถามว่าเมื่อเกิดรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 แล้วจบหรือไม่ ถามว่าเมื่อเกิดรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 แล้วจบหรือไม่

ถามว่าเมื่อเกิดการบดขยี้พรรคอนาคตใหม่แล้วจบหรือไม่

คำตอบในความรับรู้ของสังคมมีความเด่นชัดเป็นจริงมากยิ่ง ขึ้นเป็นลำดับ คือ ไม่จบ

สถานะทางความคิด เกียรติภูมิทางการเมืองก็ยังคงอยู่

ไม่ว่าจะมองผ่าน นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะมองผ่าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าจะมองผ่าน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ความจริงนี้สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้คิดทำลายและบดขยี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน