คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ความพยายามที่จะแก้ไขวิกฤตแรงงานต่างประเทศที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันของรัฐบาล ด้วยการออกคำสั่งตามม.44 ของรัฐธรรมนูญ 2557 เพื่อลบล้างผลในทางปฏิบัติของพระราชกำหนดแรงงานต่างด้าว เป็นสิ่งที่น่าชมเชย

เพราะเห็นว่าเมื่อกระทำผิดไปแล้ว ก็แสดงออก ว่าพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงโดยทันที ย่อมทำให้ผลจากความผิดพลาดในการออกนโยบายที่ไม่รอบคอบลดน้อยถอยลงไป

แต่จะถึงขั้นที่ทุเลาปัญหาลงไปได้ทั้งหมดหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับในทางปฏิบัติที่เป็นจริง

ว่ารัฐบาลสามารถกำชับกวดขันให้ฝ่าย ราชการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มกำลังหรือไม่

เพราะโดยข้อเท็จจริงซึ่งกระทรวงแรงงานเป็นผู้แถลงออกมาเองก็คือ การออกกฎหมายดังกล่าวเป็นไปเพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกกฎหมายจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนให้เข้ามาอยู่ในระบบ

ถามว่า ในระยะเวลา 6 เดือนที่ม.44 ระบุ เอาไว้ กระทรวงแรงงานมีความสามารถในการจัดการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดเหล่านี้ให้เรียบร้อยได้จริงหรือไม่

ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่คนทั่วไป และธุรกิจจำนวนมากที่ต้องอาศัยแรงงานต่างประเทศในการขับเคลื่อนกิจการให้เป็นไปได้โดยปกติตั้งข้อสงสัย

ประการหนึ่ง เนื่องจากความไม่วางใจในประสิทธิภาพของระบบราชการ

ซึ่งพิสูจน์ด้วยความเป็นจริงมานับครั้งไม่ถ้วนในอดีต

ประการหนึ่ง เงื่อนไขในการจัดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวของกระทรวงแรงงานเอง ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพหรือความรวดเร็วขึ้นได้

เพราะขณะที่ไม่ได้มีการลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและยืดยาว ยังกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับแรงงานต่างด้าวต่อคนเอาไว้สูงยิ่ง

จนกระทั่งหลายธุรกิจอาจจะเห็นว่าไม่คุ้ม และพร้อมจะล้มเลิกหรือปิดกิจการไป เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าธรรมเนียม หรือเสี่ยงต่อการเสียค่าปรับจำนวนมหาศาลนี้ได้

ถ้ารัฐบาลไม่ต้องการให้การออกมาตรา 44 แก้ไขปัญหานี้เข้าตำรา “เขียนด้วยมือ ลบ ด้วยเท้า”

ก็ต้องเข้ามาดูให้ถึงรายละเอียดของการปฏิบัติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน