คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ภารกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานในช่วงเวลานี้ ส่วนหนึ่งคือการเดินสายพูดคุยกับเมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว หลังจากพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จะมีผลบังคับใช้ เมื่อการขยายเวลา ผ่อนผันบทลงโทษในกฎหมาย 180 วันสิ้นสุดลง

รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า การเดินสายพูดคุยครั้งนี้ก็เพื่อให้การเคลื่อนแรงงานในภูมิภาคอาเซียนเกิดความเคลื่อนตัวอย่างคล่องตัว ทุกประเทศร่วมกันทำให้กระบวนการง่ายขึ้น

แต่ภารกิจนี้กลับมีขึ้นหลังเกิดสถานการณ์ที่แรงงานต่างด้าวทยอยเดินทางกลับประเทศ อย่างเร่งรีบ ด้วยความวิตกกังวลทั้งฝ่ายแรงงานและผู้ว่าจ้าง

จึงน่าเสียดายว่าการพูดคุยเก็บข้อมูล แสวงหาแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย รวมถึงการประเมินผลกระทบนั้นน่าจะมีขึ้นก่อน

การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาและต่อต้านการ ค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเยี่ยงทาส

เมื่อกฎหมายเป็นเอกสารหลักฐานที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในประชาคมระหว่างประเทศ การออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาโดยทั่วไปจึงมีลักษณะป้องปรามการทุจริต ทั้งในส่วนข้าราชการ และเอกชนผู้ประกอบการ

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ปัญหารุนแรงขึ้น ย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่ต้องทำให้รอบคอบขึ้น เพื่อไม่ให้ก่อผลกระทบ หรือผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึง

การรับฟังและการพูดคุยเพื่อให้ได้มาซึ่งการอุดช่องโหว่ของปัญหาจึงสำคัญมาก

ด้วยเงื่อนไขของกฎหมายที่ให้มีการพิสูจน์สัญชาติ การขอวีซ่า การขอใบอนุญาตการทำงาน ทำให้แรงงานต้องกลับประเทศตนเอง และต้องหาเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการอนุญาตต่างๆ เหล่านี้

เสียงสะท้อนจากภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการเกษตรที่วิตกกังวลก็คือ การถอนกลับของแรงงานต่างด้าว จะเป็นสถานการณ์แค่ชั่วคราวหรือไม่

ส่วนบทลงโทษที่กำหนดใหม่ให้สูงมากนั้นจะเอื้อให้เจ้าหน้าที่บางรายซึ่งแสวงหาประโยชน์เรียกค่าอำนวยความสะดวกกับแรงงานที่ลักลอบเข้ามาหรือไม่

ในขณะที่รากเหง้าของปัญหาการค้ามนุษย์ เกิดจากการไม่เคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ การแก้ไขปัญหาจึงควรรับฟังเสียงของทุกคนอย่างเท่าเทียม

กฎหมายที่ใช้จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวนี้ ได้รับฟังเสียงของทุกฝ่ายแล้วหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน