คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอเรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศ ไทย และเห็นชอบให้จัดทำบัตรประจำตัวพระสงฆ์และสามเณรใหม่ จากรูปแบบหนังสือสุทธิกระดาษ เขียนที่ใช้มานาน

บัตรรูปแบบใหม่นั้น คาดว่าจะคล้ายบัตร ประจำตัวประชาชน ที่มีชิพบรรจุข้อมูลต่างๆฝังอยู่ มีรายละเอียดส่วนตัว ประวัติการบวช การลาสิกขา การศึกษาพระปริยัติธรรม การเลื่อนสมณศักดิ์

รวมถึงข้อมูลจากทะเบียนประวัติอาชญากรว่าเคยกระทำความผิดใดๆ ก่อนจะมาบวชหรือไม่ รวมทั้งข้อมูลการต้องอธิกรณ์กรณีละเมิดพระธรรมวินัยระหว่างดำรงสมณเพศด้วย

เป็นการเปลี่ยนโฉมฐานข้อมูลของพระสงฆ์ไทยใหม่ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว ใช่ ว่าจะกระทำได้โดยง่าย ส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เพื่อกำหนดขอบเขต และความรับผิดชอบ ในการออกบัตรแก่พระภิกษุและสามเณรที่มีอยู่ ทั่วประเทศประมาณ 300,000 รูป ว่าจะต้อง รวมถึงพระภิกษุต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยหรือไม่

จริงอยู่ มาตรการนี้ เป้าหมายก็เพื่อตรวจสอบสถานะบุคคลพระสงฆ์ทั้งระบบ รวมทั้งควบคุมและกำจัดกลุ่มมิจฉาชีพ ที่แฝงตัวมาอาศัยพระพุทธศาสนาหาผลประโยชน์ อีกทั้งมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อศรัทธาของพุทธศาสนิกชน

ถ้าหากมีความรอบคอบ และครบถ้วนก็ย่อมส่งผลดี

ในยุคที่เทคโนโลยีและสารสนเทศก้าวไกล อีกทั้งการสื่อสารก็มีความรวดเร็วและทันสมัย การนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ย่อมเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน แต่เนื่องจากเป็น สิ่งใหม่ การสร้างความเข้าใจกับคณะสงฆ์ก็มีความสำคัญเช่นกัน

ถ้าหากประสบผลสำเร็จ ก็ย่อมจะทำให้ การทำงานและการแก้ไขปัญหามีความรวดเร็ว เกิดความสะดวกสบาย และยังสามารถคัดกรองและควบคุมบุคคลที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาบวชได้

เป้าหมายเริ่มแรกนั้น จะนำใช้กับพระสงฆ์ และสามเณรที่บวชตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และ ทดลองนำร่องกับพระเถระผู้ใหญ่ในระดับพระสังฆาธิการก่อน

น่าจะเป็นวิธีที่ง่ายขึ้น เพราะข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน