คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การใช้งบประมาณของรัฐมักเป็นเรื่องที่ผู้คนสนใจเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงบกลาโหม งบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรืองบช่วยเหลือภาคการเกษตร เพราะทั้งหมดแม้แยกกระเป๋าแต่มาจากแหล่งเงินเดียวกันคืองบประมาณแผ่นดิน อันเป็นการเก็บภาษีจากประชาชน

กรณีล่าสุดที่รัฐบาลอธิบายก็คือการตั้งงบและใช้งบ ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ยังใช้ในด้านอื่นๆ เช่น ช่วยเหลือภาคการเกษตรที่ระบุว่าใช้เฉลี่ย 2-3 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์

ความรู้สึกเปรียบเทียบของประชาชนในเรื่องนี้ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลข่าวสารที่เป็นความเคลื่อนไหวจากการอนุมัติใช้เงินของคณะรัฐบาล

บวกกับตัวเลขการจัดทำงบประมาณที่เปรียบเทียบได้จากปีก่อนๆ

ในขณะที่ตัวเลขงบประมาณด้านกลาโหมเพิ่มขึ้นทุกปีนับจากปี 2557 ราว 1.85 แสนล้านบาท มาเป็น 2.22 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2561

นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 มาถึงปีงบประมาณ 2560 กองทัพบกจัดซื้อรถถัง VT4 จากจีน รถยานเกราะ VN-1 จากจีน เฮลิคอปเตอร์ Mi-17 จากรัสเซีย และเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กจากสหรัฐ รวมมูลค่า 17,200 ล้านบาท

ส่วนกองทัพอากาศซื้อเครื่องบินขับไล่ขั้นต้นแบบ T50 เฉพาะปีงบประมาณ 2560 จัดซื้อ 8 ลำ มูลค่า 8,800 ล้านบาท และหากรวมงบประมาณผูกพัน 3 ปี ระยะแรกปี 2558 และระยะสามปี 2563 จะเป็นทั้งหมด 16 ลำ มูลค่ารวม 16,200 ล้านบาท

ด้านกองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำจากจีน มูลค่า 13,500 ล้านบาท เป็นกรณีที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ดังกล่าวมีเหตุผลประกอบว่าจำเป็นทั้งสิ้น เนื่องจากต้องมาใช้ทดแทนของเดิมที่เก่าและเสื่อมสภาพ รวมถึงเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ

แม้บุคคลในรัฐบาลยืนยันถึงความโปร่งใสและความคุ้มค่า แต่ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนคนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก จึงมารับรู้รับทราบได้เมื่อมีการจัดตั้งงบประมาณและตัดสินใจซื้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว

โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่มีตัวแทนจากประชาชนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ปกติจะอภิปรายและแปรญัตติงบประมาณ ยิ่งทำให้การเชื่อมต่อนี้ห่างออกไป

ความรู้สึกไม่มีส่วนร่วมจึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน