บทบรรณาธิการ
หลักเกณฑ์ของกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ในช่วงประเทศเดินหน้าสู่ประชามติยังคงเป็นเรื่องที่ผู้คนสนใจเป็นพิเศษ เพราะมีข้อปฏิบัติที่ต้องอาศัยการตีความอีกชั้นหนึ่ง

โดยเฉพาะเรื่องที่ระบุว่าสิ่งทำไม่ได้ในเรื่องเกี่ยวกับประชามติ มีเนื้อหาที่ระบุว่า ข้อความอันเป็นเท็จ หยาบคาย ปลุกระดม หรือขัดต่อขนบธรรมเนียม ศีลธรรม มีเจตนาเพื่อปลุกระดมทางการเมือง

ครอบคลุมกิจกรรมการสัมภาษณ์ลงสื่อ การโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ การแชร์ข้อความ การแจกเอกสาร ใบปลิว แผ่นพับ การทำสัญลักษณ์-เครื่องหมาย การจัดเวที สัมมนา อภิปราย การรายงานข่าว

รวมถึงการรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคมเพื่อให้รับหรือไม่รับ หรือขัดขวางการออกเสียงประชามติที่มีลักษณะเป็นการปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง

พิจารณาเฉพาะเรื่องความวุ่นวายทางการเมือง นับเป็นเรื่องที่ตีความได้ลำบาก และการตีความนั้นอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมขึ้นมา เสี่ยงที่จะเพิ่มความขัดแย้งขึ้น

เนื่องจากหลักการขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตยนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีความสำคัญสูงมาก

ในกรณีที่คนเราเห็นไม่เหมือนกันและถกเถียงกันได้ นับเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ แต่ถ้าไม่อาศัยพื้นฐานนี้ก็อาจมองว่าเป็นความวุ่นวายทางการเมืองได้

กฎเกณฑ์ทำได้ 6 ข้อ ทำไม่ได้ 8 ข้อของกกต. อาจกลั่นกรองมาจากเหตุเผชิญหน้าทางการเมืองในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ จนพยายามหาทางป้องกัน

แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือหลักเกณฑ์นั้นไม่ควรจะสร้างเงื่อนไขที่กระทบต่อหลักการประชาธิปไตย

ประชามติเป็นขั้นตอนสำคัญของประเทศที่ผู้คนต้องเรียนรู้ที่จะใช้สิทธิของตนเอง เคารพสิทธิของผู้อื่น และยอมรับในคำตัดสินของเสียงข้างมาก ไม่ว่าผลจะออกมาว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนี้

ขณะเดียวกัน ประชามติยังเป็นขั้นตอนสำคัญที่นานาประเทศใช้พิจารณาความคืบหน้าของไทยในการฟื้นฟูประชาธิปไตย

ยิ่งเฉพาะกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว การพิจารณาย่อมไม่ให้ดูพิธีกรรมเท่านั้น แต่มีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ต้องตีความเช่นกัน

บรรยากาศทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน