คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เช่นเดียวกันกับในประเทศที่มีการปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตยอีกหลายแห่ง

สาธารณรัฐฟิลิปปินส์มีการเผยแพร่บทวิเคราะห์วิจารณ์ประธานาธิบดีร็อดริโก ดูแตร์เต ในวาระของการดำรงตำแหน่งครบรอบ 1 ปีอย่างคึกคัก

โดยในเสียงวิจารณ์นั้นมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้าน มีทั้งเสียงที่ให้ความชื่นชมและการวิพากษ์แนวทางการทำงาน

ในส่วนของผู้ชื่นชมนั้นส่วนใหญ่จะเป็นไปในทำนองว่าประธานาธิบดีดูแตร์เตใช้ความเด็ดขาดเข้าปราบปรามอาชญากรรมเพื่อสร้างความสงบสุขให้สังคม

ขณะที่ผู้ต่อต้านชี้ประเด็นว่าการใช้อำนาจเด็ดขาดนี้เองที่เป็นอาชญากรรมไม่แพ้อาชญากรรมอื่นๆ

เพราะในช่วง 1 ปีของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีดูแตร์เตนั้น มีรายงานว่ามีผู้ถูกฆาตกรรมในข้อหาว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับยาเสพติดและการก่อการร้ายแล้วไม่น้อยกว่า 7,000 คน

โดยในจำนวนนี้มีสตรี เด็ก และคนชรา ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับอาชญากรรมดังกล่าวมากน้อยเท่าใดรวมอยู่ด้วย

อำนาจที่เด็ดขาดนั้นมีแนวโน้มที่จะละเมิดกฎหมายไม่น้อยกว่าขบวนการนอกกฎหมาย เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะมีการตรวจสอบถ่วงดุลจากบุคคลหรือองค์กรอื่นๆ

ที่จำนวนไม่น้อยก็ถูกอำนาจเด็ดขาดนี้เองกดขี่หรือปิดปาก ไม่ให้แสดงความเห็นข้อมูลในทางตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ

แต่ตราบเท่าที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าการสั่งการหรือการกระทำของประธานาธิบดีดูแตร์เตทำให้เกิดการละเมิดกฎหมาย

ประธานาธิบดีก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งไปจนกว่าจะหมดอายุตามกติกาที่ตกลงกันไว้

อย่างไรก็ดี เมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ผู้ที่ยังติดใจสงสัยก็ยังมีโอกาสที่จะตรวจสอบย้อนหลังได้

ขอเพียงแต่รักษาระบบให้ดำรงอยู่ต่อไป ไม่แก้ไขปัญหาการรวบรัดตัดตอนด้วยการรวบรัดตัดตอนเสียเอง

คุณค่าของประชาธิปไตยประการหนึ่งนั้นอยู่ที่การเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้ตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน

แต่เป็นการตรวจสอบถ่วงดุลที่ไม่ล่วงละเมิดกติกานี่เอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน