คอลัมน์ บทบรรณาธิการ : เสียงคนใน-คนนอก

เสียงคนใน-คนนอกก่อนการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ธนาคารโลกเปิดรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยที่เป็นประโยชน์

โดยเฉพาะกับรัฐบาล หากนำมาคิดคำนวณ ทบทวน และประเมินผลแล้ว ข้อมูลจากองค์กรใหญ่ระดับโลกน่าจะช่วยให้เห็นภาพความเสียหายและภาพสำหรับการฟื้นฟูได้ เพิ่มขึ้นจากเสียงของฝ่ายค้าน หรือคนในประเทศด้วยกัน

เวิลด์แบงก์เห็นว่า แม้ว่าไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค แต่มาตรการปิดประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะต่อธุรกิจภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 15 ของจีดีพี

ทำให้บุคลากรในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการตกเป็นกลุ่มเสี่ยงตกงานสูง

จํานวนผู้ตกงานหรือสูญเสียรายได้จากวิกฤตโควิด-19 ที่ธนาคารโลกประมาณการไว้คือ 8.3 ล้านคน ใกล้เคียงกับที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินไว้ 8.4 ล้านคน

คำแนะนำสำหรับช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว คือต้องขบคิดว่าทำอย่างไรที่จะช่วยให้ผู้ที่ตกงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้ง

ถ้าทำไม่ได้ นอกจากเศรษฐกิจไม่เกิดการหมุนเวียนที่คล่องตัว รัฐจะต้องดูแลคนกลุ่มนี้ที่มีพอกพูนขึ้น

หลังจากใช้ไปแล้วหลายมาตรการรับมือผลกระทบจากโควิด-19 รวมแล้วคิดเป็น 12.9 ของจีดีพี

ข้อเสนอของเวิลด์แบงก์และเนื้อหาคำอภิปรายของสมาชิกฝ่ายค้านส่วนใหญ่ที่สื่อถึงรัฐบาลคือ การฟื้นฟูครั้งนี้ไม่ใช่การทุ่มเงินของรัฐลงไปพยุงคนทั้งหมดขึ้นมา เพราะถ้าทำอย่างนั้นทุ่มอย่างไรก็ไม่พอ ไม่ทั่วถึง และไม่ยุติธรรม

ดีไม่ดีก็จะฉุดคนอื่นๆ รวมถึงรัฐลงลึกไปเรื่อยๆ

หนทางของการฟื้นฟูคือทำให้เศรษฐกิจกระจายตัวและเปิดโอกาสให้คนกลับเข้าสู่สนามแรงงานให้เร็วที่สุด

แม้เวิลด์แบงก์คำนวณว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีสถานการณ์จึงจะกลับมาเข้าที่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหมายถึงว่า ครัวเรือนต้องมีกำลังซื้อ ไม่ใช่มีหนี้ท่วม ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการต้องมีประสิทธิภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน