งบอาวุธ – ทุกครั้งที่มีการอภิปรายหรือวิพากษ์วิจารณ์การจัดงบประมาณแผ่นดินนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร งบกองทัพ หรืองบกระทรวงกลาโหม อยู่ในความสนใจอันดับต้น

เนื่องจากเหตุรัฐประหารทุกครั้งล้วนเกิดจากคณะบุคคลในกองทัพ

เกือบทุกครั้งรัฐประหารทำสำเร็จเพราะผู้คนล้วนกลัวอาวุธ กลัวความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว

ดังนั้นรัฐประหาร 3 ครั้งหลังถึงปี 2557 ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ เพราะไม่มีใครกล้าจะท้าทายผู้ครอบครองอาวุธที่ไว้ใช้สู้รบและประหัตประหาร

การตั้งคำถามของประชาชนและผู้แทนประชาชนถึงการมีอาวุธจึงเชื่อมโยงกับเหตุการณ์เหล่านี้ด้วย

สําหรับการตั้งงบประมาณซื้ออาวุธผูกพันข้ามปี ไม่มีข้อสงสัยว่างบซื้ออาวุธ 22 โครงการ วงเงิน 4,395.7 ล้านบาทเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามราชการหรือไม่

และไม่มีข้อสงสัยเช่นกันว่าการจัดซื้อยุทโธปกรณ์นั้นต้องใช้เวลาสั่งล่วงหน้า ทั้งมีราคาแพง ต้องผ่อนชำระ จึงต้องทำเป็นงบผูกพัน

แต่คำชี้แจงจากรัฐบาลว่า ถ้าประเทศไม่มียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยสำหรับป้องกันตัวเองได้ ก็อาจเป็นภัยสำหรับลูกหลานในอนาคต กรณีนี้ต่างหากที่เป็นเรื่องน่าสงสัย

เนื่องจากประวัติศาสตร์ร่วมสมัยตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 จนมาถึงศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยไม่มีศัตรูสู้รบในระดับประเทศ หรือระดับภูมิภาค

ความสูญเสียชีวิตจากการปะทะด้วยอาวุธล้วนเกิดขึ้นภายในประเทศ

นอกจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหญ่เมื่อปี 2535 และพ..2553 การใช้อาวุธที่ชัดเจนของเจ้าหน้าที่รัฐคือปฏิบัติการในพื้นที่ชายแดนใต้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ความขัดแย้ง

แม้หลายรัฐบาลพยายามจะคลี่คลายความขัดแย้งลง แต่ปัญหามีความซับซ้อนมากทั้งจากนโยบายและการปฏิบัติ ทำให้ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐหวาดระแวงกัน

โดยเฉพาะเมื่อทั้งสองฝ่ายใช้อาวุธต่อกัน การเจรจาสันติภาพยิ่งถูกบั่นทอน

..ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า หากฝ่ายความมั่นคงยังคงมีแนวคิดเดิม ใช้กฎหมายควบคุมล็อกคนแบบเดิม กระบวนการสันติภาพจะไม่มีทางคืบหน้า

ผลที่ตามมาคือการกล่าวอ้างถึงความจำเป็นที่ต้องใช้อาวุธ ซื้ออาวุธ หรือเพิ่มอาวุธ จะมีต่อไปเรื่อยๆ และผูกพันราวกับไม่มีที่สิ้นสุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน