กล้อนผมนักเรียน – ต่อเนื่องจากกรณีปักชื่อบนชุดนักเรียน คือระเบียบข้อบังคับว่าด้วยเรื่องทรงผมของนักเรียนก็กลับมาเป็นประเด็นที่น่าถกเถียงในสังคมอีก

เพราะถือเป็นภาพสะท้อนเดียวกันถึงการตัดสินใจของผู้ใหญ่ว่าจะใช้มาตรการหรือมาตรฐานใดควบคุมเด็ก

ความเหมาะสมและคุณสมบัติต่างๆ ที่เด็กควรมี ล้วนมาจากการตัดสินใจของผู้ใหญ่

ยิ่งบวกกับระบบราชการที่ผู้ใหญ่มีอำนาจบังคับบัญชาเหนือผู้น้อย ยิ่งทำให้ระบบการปกครองเข้มข้นมากกว่าการบริหารจัดการ

แม้ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงมักระบุว่ายินดีรับฟังเสียงของเด็ก แต่หลายครั้งที่การฟังเป็นเพียงการได้ยิน แต่ไม่นำไปสู่การใคร่ครวญ

กรณีตัวแทนเครือข่ายนักเรียนเดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงศึกษาธิการ และเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงรับรู้เรื่องนักเรียนจำนวนมากถูกโรงเรียนบังคับตัดผม หรือกล้อนผม เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชน

เพราะปกติแล้ว เด็กดีในทัศนคติของผู้ใหญ่ในวงราชการคือเด็กที่เชื่อฟัง และก้มหน้าก้มตาเรียนหนังสือไป โดยไม่ตั้งคำถามให้ผู้ใหญ่อึดอัดใจ

แต่ตัวแทนเด็กกลุ่มนี้มีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น และต่อต้านการกล้อนผมที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงช่วงเปิดเทอมใหม่ 1 ก.ค.2563 ที่ระบุว่ามีคำร้องจากนักเรียนว่าถูกครูจับตัดผม หรือกล้อนผมอย่างน้อย 312 โรงเรียนทั่วประเทศ

เมื่อเด็กตั้งข้อสังเกตการกระทำของผู้ใหญ่ที่กล้อนผมดังกล่าวขัดกับระเบียบกระทรวง และยังลิดรอนสิทธิของนักเรียนไทย ไม่ให้มีอิสระบนร่างกายตัวเอง

คำตอบที่ได้รับเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 และขั้นตอนให้สถานศึกษาวางระเบียบเรื่องนี้ตามระบบราชการ

แต่ประเด็นหลักของเรื่อง ว่าด้วยสิทธิของนักเรียนไทยยังคงถูกมองข้ามไปเช่นเดิม

อาจเพราะสายตาของผู้ใหญ่มัวแต่มองไปที่ผม มากกว่าความคิดและความรู้สึกของเด็กนักเรียน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน