รายงานพิเศษ

ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตั้งฉากประเทศไทย

อุณหภูมิยังไม่ร้อนแรงเท่าการเมืองในห้วงโหมโรงมหกรรม ชี้ชะตาร่างรัฐธรรมนูญ จะผ่านหรือไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน

หลังพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ

อีกทั้งยังมีการประเดิมแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกฎหมายดังกล่าวตามมาตรา 61 แล้วเป็นรายแรก

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจก็เดินหน้ากระชับพื้นที่ จับกุมพลเรือนเกือบ 10 คน ที่โพสต์ข้อความต่อต้านรัฐบาลคสช.ลงในโซเชี่ยลมีเดีย

ในข้อหายุยงปลุกปั่น เข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 รวมถึงพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมทั้งภายในและต่างประเทศ ถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

สรุปว่าในห้วงเวลานี้ไปจนถึงวันทำประชามติ 7 สิงหาคม ประชาชนคนไทยทั่วไปมีกฎหมาย 3-4 ฉบับให้ต้องระมัดระวัง ห้ามฝ่าฝืนเด็ดขาดไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ

ถ้าพลาดนิดเดียวมีสิทธิถูกจับกุม ติดคุก 10 ปี

ที่ต้องระวังอย่างแรก คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเหยื่อสังเวยรายแรกไปแล้ว เป็นสาวใหญ่วัย 59 ปี โดยฝีมือนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง

ยังอาจรวมไปถึงกรณีน.ส.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว นักวิชาการสถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นำเสนอความเห็นผ่านเอกสาร 7 แผ่น

ประกาศจุดยืน”โหวตโน”ร่างรัฐธรรมนูญ
ต่อมาคือประกาศคำสั่ง คสช. ซึ่งถูก นำมาบังคับใช้ควบคู่ไปกับพ.ร.บ. ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย เตือนด้วยความหวังดี
ถึงแม้การกระทำบางอย่างไม่เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ แต่อาจเข้าข่ายตามประกาศคำสั่งของ คสช.

ตัวอย่าง นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศผ่านเฟซบุ๊กไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ถือว่ามีความผิดตามพ.ร.บ. ประชามติฯ แต่เนื่องจากมีพฤติกรรมซ้ำซาก เป็นการฝ่าฝืนประกาศคำสั่ง คสช. ก็เลยโดนอย่างที่เห็น
โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่พูดถึงกันมากเวลานี้ คือ คำสั่งเลขที่ 13/2559 ที่ให้อำนาจเต็มกับ เจ้าหน้าที่ทหาร อ้างมีเป้าหมายมุ่งใช้กับกลุ่มอิทธิพลมาเฟียผิดกฎหมาย

แต่เป้าหมายผลพลอยได้คือกลุ่มคัดค้านทางการเมือง

กับอีกเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ กรณีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวพลเรือน จำนวน 8 ราย ตามหมายจับของศาลทหาร ในข้อหากระทำการยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ก่อให้เกิดความไม่สงบ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือรัฐบาล

อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ส่งให้พนักงานสอบสวนกองปราบฯ แจ้งข้อหาและสอบปากคำ
ก่อนนำตัวขออำนาจฝากขังศาลทหาร โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากศาลเห็นว่า ผู้ต้องหาทั้ง 8 มีการกระทำในลักษณะเป็นขบวนการ พฤติการณ์แห่งคดีจึงร้ายแรง

การระบุว่าผู้ต้องหาทั้ง 8 มีการกระทำเป็นขบวนการนั้น
สืบเนื่องมาจากการแถลงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้มีการเปิดโชว์แผนผัง เครือข่ายกลุ่มผู้ต้องหากระทำความผิดต่อความมั่นคง มาตรา 116
นอกจากระบุกลุ่มผู้ต้องหา เป็นผู้จัดทำเพจ เฟซบุ๊ก “Jatuporn Prompan” เฟซบุ๊กเพจ “Peace TV” และเพจเฟซบุ๊กกลุ่ม ?เรารัก พล.อ.ประยุทธ์? ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาล คสช.

โดยมีผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีคอยรับคำสั่งจากตัวการใหญ่อีกทอด
ยังมีชื่อนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กับนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบ.ก.ลายจุด นักกิจกรรมทางการเมืองและแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง รวมอยู่ในแผนผังด้วย

ซึ่งหากใครเคยติดตามกรณี “ผังล้มเจ้า” ในสมัยปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 รวมถึง “ขอนแก่นโมเดล” ในยุคหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

ก็จะรู้ว่า “ผังต้านคสช.” มีน้ำหนักอยู่ระดับใด
ทั้งนี้ การใช้อำนาจพิเศษเข้าควบคุมตัวบุคคลที่เห็นต่างไปปรับทัศนคติ ตลอดจนการจับกุมดำเนินคดีจำนวนมากกับฝ่ายต่อต้าน ที่ออกมาเคลื่อนไหวทั้งในพื้นที่สาธารณะและโลกโซเชี่ยล

ขณะเดียวกันกลับละเว้นกลุ่ม ผู้เคลื่อนไหวสนับสนุน
ทำให้หลายคนเกิดความเป็นห่วงรัฐบาล คสช. อาจถูกมองว่า ต้องการเปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายสนับสนุน พูดถึงแต่ด้านดีของร่างรัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียว

หากใครพูดด้านไม่ดี จะต้องถูกดำเนินการด้วยกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าพ.ร.บ.ประชามติฯ ประกาศคำสั่งคสช. พ.ร.บ.คอมพิว เตอร์ หรือแม้แต่กฎหมายอาญา มาตรา 116 ตลอดจนมาตรา 112 ก็เริ่มถูกนำมาใช้อีกเช่นกัน

ขณะที่องค์กรต่างประเทศ เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ต่างก็แสดงความเป็นห่วงต่อท่าที อันแข็งกร้าวของรัฐบาลไทยต่อกลุ่มผู้เห็นต่าง

พร้อมสนับสนุนการเปิดกว้างให้สังคมไทยมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังเข้าสู่กระบวนการทำประชามติในเวลาอันใกล้นี้ ได้อย่างตรงไปตรงมา

เพราะหากการทำประชามติเกิดขึ้นบนพื้นที่ปิดกั้นไม่ให้ประชาชนวิเคราะห์ถกเถียง อันจะนำมาสู่การรับรู้ข้อดี-ข้อเสียร่างรัฐธรรมนูญอย่างรอบด้าน ก็ไม่อาจนับเป็นการทำประชามติที่ดีและสมบูรณ์แบบ
ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับผลที่ออกมาว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่าน

เนื่องจากเมื่อถึงที่สุดแล้วด้วยกลไกบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่ว่ากฎหมายพิเศษหรือกฎหมายที่ออกมาใหม่เฉพาะกิจ อาจช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านด่านประชามติไปได้

แต่ผ่านแล้วจะได้รับการยอมรับจากประชาชนหรือไม่ ยังเป็นเรื่องน่าคิด

หากประชาชนไม่ยอมรับ ก็ย่อมจะนำมาสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน