คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

สํานักงานศาลยุติธรรม มีข้อสังเกตการ บังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และคำสั่ง หัวหน้าคสช.ที่ 33/2560 เรื่องมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

คำสั่งข้อ 1 กำหนดให้มาตรา 101, 102, 119 และ 122 ของพ.ร.ก.มีผลใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม 2561 โดยข้อ 6 ให้คำสั่ง คสช. นี้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.2560 ซึ่งตรงกับวันที่พ.ร.ก. มีผลใช้บังคับ

ส่งผลให้เฉพาะมาตรา 101, 102, 119 และ 122 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษยังไม่มีผล จึงเกิดปัญหาทางปฏิบัติว่าการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.ก. มีผลใช้บังคับในวันที่ 23 มิ.ย. 2560 และความผิดที่เกิดขึ้นหลัง พ.ร.ก.มีผลใช้บังคับในวันที่ 23 มิ.ย.-31 ธ.ค. 2560

จึงจำเป็นต้องหาแนวปฏิบัติให้สอดคล้อง

ในที่สุด ก็ได้ข้อสรุปว่าถ้าคดีใดมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าได้รับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง รวมถึงการยื่นคำร้องขอหมายจับ การอนุมัติจับก็ทำไม่ได้

ส่วนกรณีที่พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา จึงไม่อาจพิจารณาให้ฝากขังต่อไปได้ และผู้ต้องหาที่ศาล มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังไปก่อนแล้วจึงต้องพิจารณาออกหมายปล่อย หรือมีคำสั่งว่าการปล่อยชั่วคราวสิ้นสุดลงด้วย

เป็นข้อสังเกตที่พิจารณาตีความกฎหมาย เผยแพร่ให้ผู้พิพากษารับทราบ

เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่สำนักงานศาลสถิตยุติธรรม ได้นำกรณีดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาด้วยตัวเอง หลังจากพ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ และมีคำสั่งคสช.ให้ยกเว้นบางมาตราที่เกี่ยวบทกำหนดโทษ

ขณะเดียวกันก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ฝ่ายนิติ บัญญัติ รัฐบาล และคสช.เอง ก็ไม่ได้แจ้งสิทธิใดๆ ของผู้ที่ละเมิดกฎหมายเดิมที่ยกเลิกไปแล้วให้ได้รับทราบ ถ้าศาลยุติธรรมไม่นำมาพิจารณา และแจ้งให้ทราบ ก็คงจะมีผู้ต้องคดี และรับโทษอยู่เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ทั้งในส่วนของกระทรวงแรงงาน กรมราชทัณฑ์ รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงต้องดำเนินการไปตามความเห็นของศาลให้มีความสอดคล้องในทางปฏิบัติด้วย

เนื่องจากได้รับการเว้นโทษตามกฎหมายแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน