คอลัมน์ บทบรรณาธิการ : สภาล่มอีกแล้ว

สภาล่มอีกแล้ว – เหตุการณ์สภาล่มกลางสัปดาห์นี้เป็นเรื่องที่น่าตำหนิสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้มีส่วนรับ ผิดชอบอีกครั้ง เพราะถือว่าทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนบกพร่อง

จนทำให้เกิดเหตุสภาล่มเป็นครั้งที่ 3 ในช่วง 8 เดือน

ต่อเนื่องจากสองครั้งแรกที่ล่มสองวันติด วันที่ 27-28 พ.ย.2562 วาระการพิจารณาญัตติด่วน เรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผล กระทบจากคำสั่งคสช. และการใช้อำนาจของ หัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44

ครั้งนั้นส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตกลางสภา และต้องใช้วิธีเอาชนะด้วยการเสนอให้นับคะแนนใหม่ ท่ามกลางการประท้วงของฝ่ายค้าน

ส่วนครั้งล่าสุดมาจากการขาดจำนวน ส.ส.ไม่ครบองค์ประชุม

ก่อนเกิดเหตุการณ์นับองค์ประชุม เป็นวาระที่ประชุมส.ส.รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ

ฝ่ายค้านตั้งเงื่อนไขให้ถอนร่างรายงานออกไปก่อน เนื่องจากเห็นว่าครม.ไม่ได้รายงานความ คืบหน้าเรื่องนี้ทุก 3 เดือน หากรับรองไปอาจขัดกฎหมาย แต่เมื่อฝ่ายรัฐบาลไม่รับเงื่อนไขนี้จึงทำให้ต้องนับองค์ประชุม

สุดท้ายผลการนับองค์ประชุม มีสมาชิกไม่ถึง 244 คน จึงทำให้สภาล่มเป็นครั้งที่ 3

ปัจจุบันสภาผู้แทนฯ มี ส.ส.อยู่ทั้งหมด 487 คน เป็นฝ่ายรัฐบาล 275 เสียง ฝ่ายค้าน 212 เสียง

ฝ่ายที่ขาดประชุมมากกว่าคือฝ่ายรัฐบาล หายไป 53 คน ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกแกนนำพรรครัฐบาลถึง 27 คน

ปัญหาการขาดประชุมของส.ส.ดังกล่าว อาจแก้ตัวได้ว่าเป็นความพลั้งเผลอเป็นบางช่วงเวลา แต่ก็สะท้อนถึงความไม่เอาใจใส่ในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติเช่นกัน

โดยเฉพาะหากส.ส.ไปทำกิจกรรมอื่นนอกสภา ย่อมเกิดคำถามว่าส.ส.ทำหน้าที่คุ้มกับภาษีประชาชนหรือไม่

ยิ่งก่อนหน้านี้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสมที่พรรคฝ่ายค้านเสนอให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เข้ามาร่วมเป็นกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2564

แต่หากเปรียบเทียบกันแล้ว ถ้าคนนอกเข้ามาทำหน้าที่กมธ.ตรวจสอบการใช้เงินของประเทศอย่างตั้งใจ กับฝ่ายที่ขาดประชุมแล้ว ประชาชนน่าจะตัดสินได้ว่าแบบใดคุ้มค่ากว่ากัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน