คอลัมน์ รายงานพิเศษ

การเมืองไทยช่วงเปลี่ยนผ่าน มีหลายประเด็นใหญ่ต้องติดตาม

ไล่เรียงไปทีละเรื่อง เริ่มจากสถาน การณ์ภายในกลุ่มนปช.คนเสื้อแดง ที่กำลังอยู่ในสภาพเผชิญมรสุม

ภายหลังศาลฎีกาพิพากษากลับ สั่งจำคุกนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. 1 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีหมิ่นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

อย่างที่นายจตุพรเอง เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ไม่นาน เหมือนยอมรับชะตากรรมการต่อสู้ของนปช.ว่ามีบั้นปลายอยู่แค่ 2 ทางคือ ถ้าไม่ตาย ก็ติดคุก

นางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำนปช. ยอมรับกรณีนายจตุพร เป็นข่าวร้ายเหนือความคาดหมาย ทั้งยังเป็นสัญญาณอันตรายส่งต่อไปถึงอีกหลายๆ คดีของแกนนำนปช. ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล

แล้วก็เป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า ที่ในวันเดียวกับที่นายจตุพรเดินเข้าคุก

ศาลก็ได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลย 6 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ในคดีก่อม็อบดาวกระจาย ขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ เมื่อปี 2551 ด้วยเหตุว่า ฟ้องซ้ำกับคดีบุกยึดทำเนียบรัฐบาล

แต่คดีใหญ่ส่งผลให้อุณหภูมิการเมืองร้อนระอุทันตา

คือคดีโครงการรับจำนำข้าวที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตกเป็นจำเลย ฐานปล่อยปละให้เกิดการทุจริต ที่ได้เดินมาถึงช่วงปลายยกสุดท้ายเป็นที่เรียบร้อย

หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายวันศุกร์ที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อนุญาตให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีด้วยวาจาวันที่ 1 ส.ค. ส่งคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 15 ส.ค.

นัดพิพากษาตัดสินวันที่ 25 ส.ค.

สำหรับคดีจำนำข้าว ไม่ว่าผลตัดสินออกมาอย่างไร

นอกจากจะเป็นบรรทัดฐานคดีทางการเมือง โดยเฉพาะคนที่จะเข้ามาเป็นนายกฯ หรือรัฐบาลในอนาคต เกี่ยวกับการปฏิบัติตามนโยบายสาธารณะ ต้องถือปฏิบัติ

ยังต้องจับตาแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองจะอยู่ในระดับรุนแรงมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ วันตัดสินคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังตรงกับวันตัดสินคดีระบายข้าวจีทูจี ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และพวกรวม 28 ราย เป็นจำเลย

รายงานข่าวระบุ เหตุที่ศาลฎีกาฯ นัดวันพิพากษาคดี “จำนำข้าว” ตรงกับคดี “จีทูจี”

เนื่องจากข้อเท็จจริงหลักฐานนำเสนอในคดีเชื่อมโยงกัน องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 2 สำนวน มีจำนวน 5 คนที่ร่วมเป็นองค์คณะพิจารณาทั้ง 2 สำนวน

เท่ากับนับจากนี้ไป 1 เดือนเต็ม เป็นเวลาที่การเมืองอยู่ในช่วงอ่อนไหวและลุ้นระทึกมากที่สุด

ในจังหวะเดียวกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ท่ามกลางเสียงร้องคัดค้านจากพรรคเพื่อไทยที่ทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยตีความว่าร่างกฎหมายดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยเฉพาะการกำหนด “อายุความ” ไม่มีที่สิ้นสุด ที่นำมาใช้บังคับกับนักการเมืองเป็นการเฉพาะ การให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดี “ลับหลัง” จำเลย รวมถึงการให้ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ “ย้อนหลัง”

พรรคเพื่อไทยมองว่าอาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

แม้ฝ่ายผู้ออกกฎหมายจะชี้แจงว่า ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนี้ ถือเป็น 1 ในกฎหมายลูก 10 ฉบับ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องเร่งทำให้ทันภายใน 240 วัน หลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศบังคับใช้

แต่การรวบรัดเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสนช. แทรกคิวเร่งด่วนกฎหมายลูก 4 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทำให้ถูกมองว่ามีเจตนาให้มีผลครอบคลุมไปถึงคดีความของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ยังคาราคาซัง

รวมถึงคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการเฉพาะหรือไม่

กับอีกเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายลูกเร่งด่วน 4 ฉบับ *
ผ่านไปแล้วฉบับแรก พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และที่อยู่ระหว่างตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาตอนนี้ คือร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ที่เป็นประเด็นถกเถียง คือข้อสรุปให้ “ไพรมารีโหวต” เป็นกิจการภายในของพรรคการเมือง แต่มีการเพิ่มบทลงโทษการกระทำผิดทั้งโทษทางอาญาและ โทษทางการเมือง

หากพบว่าการทำไพรมารีโหวตดำเนินการไม่ครบขั้นตอน มีการสัญญาว่าจะให้ คุกคามใส่ร้ายด้วยข้อความเป็นเท็จจริง จูงใจให้คนเข้าใจผิดในคะแนนนิยม หรือมีการเรียกรับผลประโยชน์ ก็จะมีโทษในหลายระดับ

ตั้งแต่ปรับเงิน จำคุก ตัดสิทธิทางการเมือง และยุบพรรค

อย่างไรก็ตามการเสนอบทลงโทษชนิด “ยาแรง” ถึงขั้นยุบพรรคทั้งที่เป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคล

มีเสียงทักท้วงจากพรรคการเมือง ส่วนใหญ่ว่า อาจขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ไม่ต้องการให้การยุบพรรคกระทำได้โดยง่าย และเมื่อกรธ.มีท่าทีรับฟัง ก็ต้องรอดูผล สุดท้ายพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะสรุปออกมาอย่างไร

อีกเรื่องที่ทำให้การเมืองคึกคักตื่นตัว ถึงไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นไปตามนั้นจริงหรือไม่

กรณีนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ชุดที่กำลังจะถูก “เซ็ตซีโร่” ออกมาระบุถึงกรอบ “ปฏิทินเลือกตั้ง”

โดยนับจากร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ไม่เกินวันที่ 31 มี.ค.2561 จากนั้นกกต.จะออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ช่วงต้นเดือนเม.ย. และแบ่งเขตเลือกตั้ง

ช่วงวันที่ 9 มิ.ย. คาดว่า กกต.จะประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง

วันรับสมัคร วัน เวลา สถานที่จับสลากของพรรคการเมือง การรับสมัครส.ส.วางกรอบไว้ช่วงวันที่ 2-6 ก.ค. ส่วนการเลือกตั้งวางไว้วันที่ 19 ส.ค. 2561

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ชี้แจง ว่าปฏิทินเลือกตั้งดังกล่าว เป็นการหารือภายในกันเองของกกต. ไม่ได้เป็นมติ หรือมีผลเร่งรัดให้ต้องเป็นตามนั้น

ท่าทีนายวิษณุ สอดคล้องกับฝ่ายผู้ถืออำนาจในคสช. ที่มักพูดถึงกรอบเวลาการจัดการเลือกตั้งแบบกว้างๆ ว่าจะอยู่ในช่วงภายในปี 2561 โดยไม่ระบุวันเดือนที่แน่นอน

การที่รัฐบาลคสช.ไม่ระบุชี้ชัดลงไป มีความเป็นไปได้ว่าความจริงรัฐบาลคสช.ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเลือกตั้งได้วันไหน เดือนอะไร เพราะสถานการณ์ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ต่างก็พลิกผัน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

จนไม่รู้ว่าเมื่อการเลือกตั้งมาถึง ใครจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ เสียเปรียบ ฝ่ายที่เชื่อว่าตัวเอง “นอนมา” ถึงเวลาจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น

นอกจากนี้คดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะตัดสินชี้ชะตาในวันที่ 25 ส.ค.

ยังเป็นหนึ่งใน ‘ตัวแปร’ สำคัญ

ต่อทิศทางการเมืองในอนาคตของใครหลายคนด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน