หมายเหตุ – สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “2 ปี สปท.สังคมได้อะไรจากการปฏิรูป” เพื่อสะท้อนการทำงานของสปท. ในสายตาของนักการเมือง

นิกร จำนง
ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และอดีตสปท.

โครงสร้างของ สปท.ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทั้งหมด ขณะที่ภารกิจสปท.ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจในการออกกฎหมาย ทำได้เพียงรายงานเท่านั้น อีกทั้งการแต่งตั้งสปท. ก็มาจากคำสั่งของนายกรัฐมนตรี เป็นเพียงที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่นับเป็นสมาชิกรัฐสภา ดังนั้น จึงคาดหวัง สปท.ไม่ได้

ส่วนการทำงานของ สปท.นั้น ได้แบ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เป็นด้านต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ และตั้งกมธ.ด้านต่างๆ เพิ่มเติมอีก เช่น กมธ.วิสามัญกิจการ สปท.หรือ วิปสปท. และกมธ.วิสามัญด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กมธ.วิสามัญปฏิรูประบบการปลอดภัยทางถนน และกมธ.ขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา

ประธานสปท.บอกเราทำได้แค่รวบรวมความคิดเห็นเป็นรายงาน และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมทั้งเนื้อหาการทำงานเชิงปฏิรูปก็น้อย เพราะวิธีคิดระบบราชการไม่คิดไปไกลๆ หักดิบไม่ได้ จึงถือว่าน่าเป็นห่วง แตกต่างจากการทำงานการเมืองที่มาจากประชาชน ซึ่งจะมองไปอีกแบบ

สปท.มีเวลาทำงานอย่างจำกัดตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งงานของ สปท.เป็นงานในเชิงปฏิรูปน้อยมาก แต่สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ คือนักการเมือง 9 คนที่เป็น สปท.ถูกใช้เป็นข้ออ้างว่า การปฏิรูปครั้งนี้มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมด้วย ทำให้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา หากมีอะไร ก็จะถูกโยนมาที่ สปท. อาทิ การเสนอคำถามพ่วงของรัฐธรรมนูญที่ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เลือกนายกฯ ในช่วง 5 ปี หรือสปท.เสนอเรื่องร่างสปท.ควบคุมสื่อฯ เป็นต้น

ดังนั้น สปท.จึงกลายเป็นสภาหนังหน้าไฟ เป็นกันชน ทั้งที่ไม่มีหน้าที่ตั้งคำถามตั้งแต่แรก และกลายเป็นหมากทางการเมืองที่สำคัญซึ่งมีประโยชน์ต่อรัฐบาล เพราะเป็นฝ่ายโยนหินถามทางให้รัฐบาล อย่างแนวทางการปฏิรูปสื่อที่ล้วนมาจาก สปท.

อย่าไปห่วงกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ขอให้กังวลในช่วง 5 ปีแรก นักการเมืองที่เข้ามาหลังเลือกตั้งจะเจอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปอีก 10 กว่าคณะ ถามว่านักการเมืองจะทำอะไรได้แค่ไหน เพราะยังทำงานไม่เท่าไร งบประมาณยังไม่ลงไป ก็ต้องรายงานต่อวุฒิสภาสรรหา 250 คนภายใน 3 เดือน หากทำไม่ได้ ก็ถูกยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ

เมื่อนักการเมืองทำไม่ได้อย่างที่หาเสียง ประชาชนก็เสื่อมศรัทธาลง จึงเป็นห่วงว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยได้สมบูรณ์หรือไม่ จากกรอบที่ถูกออกแบบไว้

 

ชวลิต วิชยสุทธิ์
อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

การทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาขาดการจัดลำดับความสำคัญ หากรัฐบาลตั้งใจทำงานเรื่องใดเป็นพิเศษ ควรจัดลำดับความสำคัญและมอบหมายให้สปท.ไปศึกษา โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมปฏิรูป อีกทั้งไม่ได้ค้นหาหัวใจของปัญหาของบ้านเมืองในปัจจุบัน

ซึ่งหัวใจของปัญหาคือ ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง พัฒนาการของประชาชนที่จะเรียนรู้ประชาธิปไตยแทบจะไม่มีเสถียรภาพและความต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดระบบรัฐราชการ ที่ไม่สามารถเดินไปในโลกปัจจุบัน เปรียบเสมือนย้อนยุคไป 40-50 ปี เปรียบประเทศคล้ายกบในน้ำร้อน

ดังนั้น เมื่อระบบผิดพลาด จึงควรทำให้บ้านเมืองกลับมาเป็นปกติ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหลังการรัฐประหารทุกครั้ง ระบบรัฐราชการจะเข้ามาครอบคลุมทุกอย่าง ขณะที่คนทำหน้าที่ในครม. สนช. รัฐวิสาหกิจ และสปท. มีแต่ข้าราชการ แล้วจะเอาสิ่งใดไปต่อสู้กับเวทีโลก เพราะมีแต่เพื่อน พี่น้อง เข้าทำหน้าที่เป็นกลุ่มเดียว อีกทั้งการพัฒนาประเทศโดยกำกับด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้ 3 ปีที่ผ่านมา เอกชนไม่กล้าลงทุน มีเพียงรัฐบาลลงทุนแค่ขาเดียวเท่านั้น และระบบรัฐราชการทำให้เราขาดการแข่งขันอย่างมีคุณภาพในเวทีโลก

ผมมีข้อสังเกตเรื่องหน้าที่ของสปท. ที่มีหน้าที่แค่ศึกษาและเสนอแนะ ซึ่งงานทั้งหมดที่ทำขาดการจัดลำดับความสำคัญ ด้วยปัญหาของประเทศที่มีมาก ถ้ารัฐบาลมีความตั้งใจจะปฏิรูปเรื่องใดเป็นพิเศษควรจะจัดลำดับความสำคัญ และมอบให้สปท. ศึกษาอย่างลึกซึ้ง ยิ่งอยู่ในภาวะแบบนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนจะช่วยประคับประคองสภาวะของบ้านเมืองในปัจจุบัน

การทำงานของรัฐบาล 3 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าทั้งจีดีพีเติบโตน้อยที่สุดในประเทศอาเซียน ยอดลงทะเบียนคนจนสูงถึง 14 ล้านคน และ โพลทุกสำนักสำรวจพบว่าปัญหาปากท้องสำคัญที่สุด ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และจะจมลึกไปเรื่อยๆ

ปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ได้ ก่อนหน้านี้ ผมเข้าร่วมเวทีปรองดองที่กองทัพภาคที่ 1 แต่ไม่ได้ให้ความเห็นใดๆ เพราะไม่ต้องการแสดงความเห็นแล้วเกิดการกระทบกระทั่ง โดยบรรยากาศในวันนั้น มีการเสนอให้รัฐบาลอยู่บริหารประเทศต่อเพราะเห็นว่าบ้านเมืองสงบ ให้ปฏิรูปก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง และมีคนปรบมือเป็นระยะ แต่ในโลกของความเป็นจริง ศักยภาพของประเทศไทยกลับเติบโตต่ำสุดในกลุ่มอาเซียน ปัญหาปากท้องของประชาชนก็ยังแก้ไม่ได้ เป็นเพราะระบบหรือไม่

นี่เป็นสิ่งที่ผมมองว่าเป็นเรื่องน่าห่วง หากบ้านเมืองยังคงสภาพนี้ ดังนั้น ทุกคนควรร่วมมือกัน

 

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เข้ามาบริหารประเทศแบบมือเปล่า จึงต้องสร้างโครงสร้างที่เรียกว่า ความชอบธรรมให้กับอำนาจ โดยการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสปท. เพื่อจะบอกได้ว่ามีกลไกรองรับการใช้อำนาจที่มาจากความหลากหลาย แต่หากกลับไปดูมีหลายเรื่องที่สปช.และสปท. เสนอแล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่ได้นำไปทำ เพราะการคิดอยู่ที่คสช.เป็นหลัก

สิ่งที่สปท.หรือคสช. ควรคิดคือการปฏิรูป ซึ่งการปฏิรูปในความหมายของผม คือการทำทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทาง งเราจะต้องไปดูในอดีตว่ามีความผิดพลาดอย่างไร

ทั้งนี้ สิ่งที่เราเถียงกันมาตลอดคือ คำว่าประชาธิปไตย ที่มีการถกเถียงกันว่ารัฐนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย สปท.จะต้องคิดว่าในอนาคตข้างหน้าจะวางรูปแบบบนนี้อย่างไร ถ้าประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์จะเติมเข้าไปอย่างไร หรือหากประชาธิปไตยมีปัญหาจะลดลงมาอย่างไร และจากวันนี้ไปจนถึงวันที่ผมวางมือ คิดว่าคงไม่ได้เห็นประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนที่เราต้องการ

มีคำกล่าวที่ว่าประชาธิปไตยก็เหมือนต้นไม้ ซึ่งต้นไม้ก็ไม่ได้งอกงามได้ในดินทุกชนิด ประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน ที่ไม่สามารถเติบโตได้ในทุกประเทศ

ประเทศไทยเหมาะที่จะเป็นรัฐกึ่งประชาธิปไตยมากกว่าเป็นรัฐประชาธิปไตย เพราะรูปแบบที่รัฐบาลกำหนดมา จะเดินไปอีก 20 ปี ถามว่าสิ่งที่สปท. ทำมาจะออกผลสำเร็จอย่างที่เขียนไว้หรือไม่ ซึ่งผมไม่แน่ใจ เหมือนกับเรากำลังออกแบบเครื่องยนต์ที่ดีมาก แต่คนใช้เครื่องยนต์ใช้ไม่เป็นก็ไม่มีประโยชน์ เปรียบกับรัฐไทยกำลังเอาเครื่องยนต์รถเบนซ์ไปใส่ในรถไถนา แล้วเอาเครื่องรถไถนามาใส่ในรถเบนซ์ มันผิดรูปไปหมด

สิ่งที่สปท.คิดคือการปฏิรูปวัฒนธรรมประชาธิปไตย เพราะเวลาเราพูดว่าคนนั้น คนนี้ไม่เป็นประชาธิปไตมันก็ดี แต่เราไม่มองว่าตัวเราเองมีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า

ในอนาคตจะไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เราเห็น เราเปลี่ยนไม่ได้ เพราะทุกอย่างถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเดินไปในรูปแบบของรัฐกึ่งประชาธิปไตย สิ่งที่สปท.คิด ผิดฝาผิดตัว ที่ว่าแทนที่เราจะเติมประชาธิปไตยในอดีตให้สมบูรณ์ แต่เรากลับไปลดความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งในอนาคตก็เดินไปได้ยาก เพราะวัฒนธรรมประชาธิปไตยของคนยังไม่เกิด

ขอให้ลองคิดว่าถ้านายกฯ ไม่ใช้มาตรา 44 แล้วไปใช้กฎหมายปกติ ไม่ใช้อำนาจพิเศษ ทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม เพราะความคิด ความขัดแย้งยังอยู่ เรายังไม่ได้ขจัดปัญหาของความขัดแย้ง และใน 2-3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลวางยุทธศาสตร์ประเทศ เป็นการเพิ่มช่องว่างของคนจน และคนรวยยิ่งกว้างขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน