บทบรรณาธิการ

ความสับสนว่าด้วยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินและบัญชีเงินฝากของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มมีความชัดเจนขึ้น

เมื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่า มีการ “อายัดบัญชี” เงินฝากของน.ส.ยิ่งลักษณ์ไปแล้วจำนวน 5 บัญชีจริง แต่ยอดเงินนั้นอยู่ระดับเพียงหลักแสนบาท

แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะออกมาแสดงความเห็นว่า ยังไม่ควรมีการยึดทรัพย์ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองจะมีคำพิพากษาในคดีจำนำข้าว

หรือกระทรวงการคลังจะออกมาแสดงความงุนงงว่า ยังไม่ได้รับการประสานงานในเรื่องดังกล่าว

แต่การยึด-อายัดทรัพย์ก็เดินหน้าไปก่อนแล้ว

ปัญหาของกรณีนี้เป็นอย่างที่นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใย นั่นคือไม่ควรจะมีการยึดหรืออายัดทรัพย์เกิดขึ้นก่อนที่คดีจะถึงที่สุด

ไม่เพียงเพราะจะทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองต่อเนื่องตามมา เนื่องจากจะทำให้เกิดข้อครหาในเรื่องการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม และอาจจะทำให้ประชาชนหรือผู้รักความเป็นธรรมเกิดความสงสัย ความไม่พอใจเท่านั้น

แต่จะยังเป็นปัญหามาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย ที่จะส่งผลกระเทือนไม่ว่าจะต่อศาลยุติธรรม ศาลปกครอง รัฐบาล ไปจนกระทั่งถึงหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

หากหลักการของกฎหมายไม่ได้รับการเคารพ

จะเรียกร้องให้คนเคารพกฎหมายได้อย่างไร

หลักกฎหมายพื้นฐานอันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ก็คือกฎหมายจะถือว่าบุคคลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน จนกว่าจะผ่านการไต่สวนตรวจสอบความผิดจนสิ้นกระบวน

และการลงโทษจะต้องเกิดขึ้นภายหลังจากมีคำตัดสินหรือคำพิพากษาแล้ว

เพราะหากมีการดำเนินการลงโทษไปก่อนจะมีคำตัดสิน ถ้าในภายหลังมีคำพิพากษาเป็นอื่น ย่อมเท่ากับการลงโทษก่อนหน้านั้นเป็นการกลั่นแกล้ง เป็นการใช้กฎหมายอย่างไม่ยุติธรรม ไม่เที่ยงธรรม

ไม่ว่าจะเป็นกรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์หรือใครก็ตาม ก็ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน