ไฮไลต์การเมืองในรอบสัปดาห์

ทุกสายตาจับจ้องไปยังการแถลงปิดคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ

ท่ามกลางบรรยากาศอดีตส.ส. รัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทยและมวลชนจำนวนมาก เดินทางมาให้กำลังใจ เปรียบเป็นการ “ซ้อมใหญ่” ก่อนถึงวันพิพากษาชี้ชะตา 25 ส.ค.

แต่ที่ได้เฮก่อนก็คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ

จากกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา “ยกฟ้อง” จำเลยทั้ง 4 คน ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือม็อบพันธมิตรฯ 7 ต.ค. 2551

นอกจากนายสมชาย จำเลยที่ 1 ยังมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น.

เหตุผลยกฟ้องหลักๆ เนื่องจากศาลพิเคราะห์พยานหลักฐาน ทั้งฝ่ายโจทก์คือป.ป.ช .และฝ่ายจำเลยทั้งสี่แล้ว เห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดล้อมรัฐสภา ไม่ให้รัฐบาลนายสมชายเข้าไปแถลงนโยบาย ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบสันติ

โดยเฉพาะประเด็นการใช้ “แก๊สน้ำตา” กับผู้ชุมนุม ถึงแม้การพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์จะยังมีความเห็นแตกต่างกัน 2 ฝ่าย

แต่ในคำพิพากษาระบุชัดเจนว่า แม้เหตุการณ์จะมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะรู้ว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

จำเลยไม่อาจอนุมานได้ว่าแก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุม จึงยังฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาหรือเจตนาพิเศษ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายและเสียชีวิต

พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด

จากนี้ต้องติดตามกันต่อว่าป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นคนละชุดกับที่ยื่นฟ้องคดีเองเมื่อปี 2558 จะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องไว้หรือไม่

โดยมีกลุ่มพันธมิตรฯ คอยเคลื่อนไหวกดดัน ไม่ยอมให้คดีจบง่ายๆ

เป็นที่รับรู้กันว่าคดีสลายม็อบพันธมิตรฯ 7 ต.ค.51 เป็นหนึ่งในคดีการเมืองสำคัญที่เข้าสู่ขั้นตอนตัดสินชี้ชะตาในเดือนส.ค.

เช่นเดียวกับ “คดีจำนำข้าว” ของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คดีระบายข้าว “จีทูจี” ของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ที่ศาลนัดพิพากษาพร้อมกันวันที่ 25 ส.ค. รวมถึง “คดีสนามกอล์ฟอัลไพน์” ของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ วันที่ 29 ส.ค.

ภายหลังจากศาลฎีกาฯ ตัดสินยกฟ้องคดีสลายม็อบพันมิตรฯ น่ามีผลกระทบต่อเนื่องไปยังอีก 2 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก การที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นมลทินจากคดีความที่ต่อสู้มานานกว่า 2 ปี ทำให้พรรคเพื่อไทยมี “ตัวเลือก” ในการหาคนมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพิ่มขึ้นอีก 1 คน นอกเหนือจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ถึงตัวนายสมชาย จะยังแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ขอเป็นคู่แข่งกับใคร

แต่หลายคนในพรรคเพื่อไทยรู้ดีว่า ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่นายสมชาย หรือคุณหญิงสุดารัตน์ จะสามารถตัดสินใจเองได้

ส่วนอีกเรื่องที่น่าจะเป็นสัญญาณส่งต่อถึงกัน คือ คดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทันทีที่ศาลฎีกาฯ ตัดสินยกฟ้องคดีสลายม็อบพันธมิตรฯ ทำให้หลายคนโดยเฉพาะแฟนพันธุ์แท้ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ และกองเชียร์พรรคเพื่อไทย เกิดประกายความหวังขึ้นมา

ยิ่งถ้าใครได้ติดตามการแถลงปิดคดีของน.ส. ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ก็ยิ่งรู้สึกว่ามีน้ำหนัก-หนักแน่นในการแก้คดี

ไม่ว่าข้อแถลงโต้แย้งใน 6 ประเด็น คือ

การถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่ในชั้นของป.ป.ช. อีกทั้งในภายหลังยังมีการฟ้องนอกสำนวน เพิ่มเติมหลักฐานเอกสารใหม่กว่า 6 หมื่นแผ่น

นโยบายรับจำนำข้าว เป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา และเป็นการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ทำเพื่อชาวนา

ไม่ได้เพิกเฉย ละเลย และนายกฯ ไม่มีอำนาจระงับยับยั้งโครงการตามอำเภอใจ ล้วงลูกสั่งการ หรือชี้นำในระดับปฏิบัติ เนื่องจากการดำเนินนโยบายเป็นไปในรูปแบบคณะกรรมการ

โครงการไม่ได้ก่อความเสียหาย ไม่เป็นภาระงบประมาณ หรือเป็นปัญหาหนี้สาธารณะ ไม่เสียวินัยการเงินการคลัง

อีกทั้งการประเมินความคุ้มค่า ต้องไม่คำนึงเฉพาะรายจ่ายหรือประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน แต่ต้องพิจารณาถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และประโยชน์อื่นๆ โดยรวมที่สังคมได้รับ

ไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดหรือโดยทุจริตตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา หรือมาตรา 123/1 กฎหมายป.ป.ช.

ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการระบายข้าว รวมถึงการทำสัญญา ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของระดับปฏิบัติ มีกรมการค้าต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ดูแล

ในการแถลงปิดคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ช่วงต้นมีการหยิบยกคำกล่าวของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกาและอดีตประธานองคมนตรี ที่กล่าวไว้

ตำรวจเปรียบประหนึ่งต้นกระแสธารแห่งความยุติธรรม อัยการเป็นกลางน้ำ ศาลเป็นปลายน้ำ ต้นน้ำจึงต้องใสสะอาด จึงจะทำให้ปลายน้ำใสสะอาดตาม หากต้นน้ำขุ่นมัวเสียแล้วปลายน้ำก็จะขุ่นมัวตาม ราษฎรก็จะไม่ได้รับความยุติธรรม

อดีตนายกฯ ยังกล่าวถึงกระบวนการสร้างความเสียหายให้ต้องรับผิดทางแพ่ง 35,000 ล้านบาท ว่าเป็นไปตามข้อสั่งการของหัวหน้าคสช. ที่สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.)

“ไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม”

ด้วยความที่รู้ตัวเองดีว่าได้ตกเป็น “เหยื่อของเกมการเมืองที่ลึกซึ้ง”

น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงได้กล่าววิงวอนขอความเมตตาจากศาล ก่อนพิพากษาตัดสิน ให้พิจารณาคดีตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและสุจริต

ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใดๆ แม้แต่หัวหน้าคสช. ที่พูดชี้นำสังคมเกี่ยวกับคดีว่า “ถ้าเรื่องนี้ไม่ผิดแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้อย่างไร”

สถานการณ์ระหว่าง “คสช.-ยิ่งลักษณ์” มาถึงจุดชี้เป็นชี้ตาย

ถึงแม้ฝ่ายหนึ่งยังมีความหวัง เหตุการณ์คงไม่ถึงขั้นถูกตัดสินให้เข้าไปอยู่ในคุกจริงๆ กฎหมายเปิดช่องทางให้ได้รับการประกันตัว สู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์ตามที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิ์ไว้

โดยที่คงไม่หวังอะไรที่ไปไกลกว่านี้

การนำเอาความรู้สึกหลังผลตัดสินยกฟ้อง คดีสลายม็อบพันธมิตรฯ หรือแม้แต่ความจริงที่ปรากฏในคำแถลงปิดคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ มา ตีความเป็นสัญญาณในทางบวก

อาจเป็นการมองโลกสวยเกินไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน