นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้น พ้นต่อรัฐบาลและปวงชนชาวไทย

เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เปิดเผยภายหลังเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อค่ำวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า

ทรงมีกระแสรับสั่ง 9 แนวทาง ปฏิบัติ

เรื่องแรก ทรงห่วงใยประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือ รับสั่งให้ช่วยเหลือตามมาตรการต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง และให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

เรื่องที่ 2 รับสั่งขอให้ทำให้ประเทศชาติและประชาชนมีความสุข ทรงย้ำเรื่องการช่วยเหลือ การบรรเทา การจัดระเบียบ สร้างวินัย สร้างอุดมการณ์อย่างต่อเนื่อง

เรื่องที่ 3 ให้ช่วยกันรักษาขนบ ธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม เอกลักษณ์ความเป็นไทยให้นักท่องเที่ยวพบเห็นและชื่นชม

เรื่องที่ 4 รับสั่งถึงภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ อาทิ ภัยคุกคามในรูปแบบเก่า เรื่องอธิปไตย และทรงเป็นห่วงภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ต้องเตรียมมาตรการรองรับให้เป็นสากล ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เกิดในประเทศอื่นก็จะมามีอิทธิพลต่อประเทศไทย

เรื่องที่ 5 รับสั่งให้เร่งดูแล ระบบการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีการปฏิรูปกันมากพอสมควร เพื่อเร่งกระบวนการเรียนรู้ให้คนไทยมีความรู้อย่างจริงจัง สามารถมีอาชีพมั่นคง มีความเข้มแข็ง และมีหลักคิด ที่ถูกต้องในทุกเรื่อง จะได้ลดความขัดแย้ง

เรื่องที่ 6 รับสั่งให้ช่วยกันส่งเสริมงานจิตอาสา

เรื่องที่ 7 รับสั่งให้ดูแลประชาชน ให้ความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ทุกอย่างขอว่าให้ เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ ให้มีหลักฐานชัดเจน ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจในกระบวน การยุติธรรมให้ได้

เรื่องที่ 8 ข้าราชการทุกหมู่เหล่าหรือส่วนราชการไม่ว่าฝ่ายใด ขอให้ประพฤติตนเป็นแบบอย่าง เป็นแม่แบบให้ประชาชน ให้เกิดความเคารพศรัทธาและเชื่อมั่นในการทำงาน จะได้เกิดความร่วมมือ ลดผล กระทบระหว่างกันให้ได้ในการบังคับใช้กฎหมาย

สุดท้าย เรื่องสำคัญที่สุดคือ ทรงเสียพระราชหฤทัยในการสูญเสียพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช และคนไทยทั้งประเทศก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน

มีรับสั่งว่าขอให้ช่วยกันสร้างความเข้าใจ ขยายสิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทำไว้อย่างมากมาย ให้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

ขณะเดียวกัน ทรงให้นึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ด้วย ซึ่งพระองค์พระราชทานสิ่งต่างๆ ไว้มากมายให้กับประเทศไทย

ขอให้นำแนวทางพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ ไปขับเคลื่อน

กลับมาสู่บรรยากาศการเมืองตลอดช่วง 2 สัปดาห์แรกเดือนส.ค. มีหลายเรื่องให้ต้องเกาะติด โดยเฉพาะ 2 เรื่องใหญ่ ที่เชื่อกันว่าจะส่งผลต่อโฉมหน้าการเมืองในอนาคต

ไม่ว่าคดีจำนำข้าว หรือการออกแบบกฎกติกาต่างๆ รองรับโรดแม็ปเลือกตั้ง ที่คาดการณ์กันว่าจะมีขึ้นอย่างเร็วภายในปี 2561 อย่างช้าต้นปี 2562

ที่กำลังเป็นหัวข้อถกเถียงอยู่ตอนนี้

กรณีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ออกแบบใหม่โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 1 ในแม่น้ำ 5 สาย นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ได้แก่ การยกเลิกบัตร เลือกตั้ง 2 ใบ เปลี่ยนมาใช้วิธีกาบัตรเลือกตั้ง “ใบเดียว” แต่เลือกส.ส.ได้ทั้งแบบเขต และบัญชีรายชื่อ

ยกเลิกสูตรคำนวณที่นั่งส.ส.บัญชีรายชื่อ มาใช้แบบใหม่ที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” ซึ่งชาวบ้านทั่วไปต้องอาศัยเวลาทำความเข้าใจ เนื่องจากสลับซับซ้อนพอสมควร

แต่ผู้ร่างยืนยันระบบเลือกตั้งนี้ จะช่วยให้เสียงทุกเสียง มีความหมาย

ขณะที่นักวิชาการ พรรคการเมืองต่างสะท้อนถึงปัญหาของระบบใหม่นี้ว่า จะส่งผลให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรคจนไร้เสถียรภาพ และไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิ์ออกเสียงอย่างแท้จริง ฯลฯ

เช่นเดียวกับการยกเลิกระบบพรรคเดียว เบอร์เดียว มาเป็น “แยกเบอร์ รายเขต” กล่าวคือ ผู้สมัครส.ส.ทุกเขต ต้องจับสลากเบอร์เลือกตั้งของใครของมัน ซึ่งจะเป็นคนละเบอร์กับของพรรคที่สังกัด

ซึ่งได้รับเสียงคัดค้านทั้งจากนักวิชาการ พรรคการเมือง หลักๆ ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา รวมถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน

เนื่องจากเกรงจะทำให้ประชาชนสับสน ไม่คุ้นชิน และที่สำคัญ ไม่เชื่อว่าระบบแยกเบอร์ รายเขต จะช่วยป้องกันการซื้อเสียงได้เหมือนอย่างที่ประธานกรธ. คุยไว้

เพราะแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยังยอมรับ การซื้อสิทธิขายเสียงจะลดลงได้หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่กฎหมายอย่างเดียว แต่อยู่ที่ตัวคนทั้งนักการเมือง พรรคการเมือง และประชาชนผู้ใช้สิทธิ์

ความพยายามออกแบบกฎกติกาอันสับสนมึนงง

นำมาสู่คำถามเดิมๆ ว่า เครือข่าย ผู้ถืออำนาจเจตนาจัดทำขึ้นเพื่อสกัดพรรคใหญ่ฝ่ายตรงข้าม ไม่ให้ได้เสียงข้างมากจนสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้

สร้างเงื่อนไขกรุยทาง “คนนอก” เข้ามาเป็นนายกฯ หรือไม่

ขณะที่สถานการณ์อีกด้าน คดีจำนำข้าวกำลังเดินเข้าสู่ช่วงไคลแม็กซ์

ความเคลื่อนไหวฝ่ายรัฐบาลคสช. นับตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. เป็นต้นมา หลังผ่านการตัดสิน “ยกฟ้อง” 4 จำเลยคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ต.ค.2551 ไปแล้ว

ชัดเจนว่าได้เน้นหนักไปยังการวางมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยในวันศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดชี้ชะตาตัดสินคดี 25 ส.ค.

นอกเหนือจากการดำเนินคดีกับ “รถตู้” รับจ้างจำนวน 21 ราย ที่รับจ้างพาคนมาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันแถลงปิดคดี 1 ส.ค. ที่ผ่านมา

การใช้แผน “กรกฎ52” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสานเข้ากับกำลัง เจ้าหน้าที่ “กกล.รส.” ของกองทัพบก

ยังมีการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นกับนักการเมืองพรรคเพื่อไทย และผู้สื่อข่าว อย่างไม่สมเหตุสมผล อีกด้วย

มีการออกคำสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม “พีซทีวี” เป็นเวลา 30 วัน

รวมถึงการใช้กลไกกระทรวงมหาดไทย กระจายลงพื้นที่ตรวจสอบ “อปท.” บางแห่งว่ามีการใช้งบฯ แอบแฝงนำคนเข้ากรุงทำกิจกรรมทางการเมืองวันที่ 25 ส.ค.นี้หรือไม่

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม คีย์แมนฝ่ายความมั่นคง ยืนยันยังไม่ “ปลดล็อก” ให้พรรค การเมืองเคลื่อนไหวได้ใน ตอนนี้

ยังแสดงให้เห็นถึงความกังวลต่อสถานการณ์ วันที่ 25 ส.ค. ด้วยไม่แน่ใจว่าจะ”เอาอยู่”หรือไม่

กระนั้นก็ตาม ภายใต้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อ การเกิดความขัดแย้งรอบใหม่ในหลายจุด

หลายคนมีความเห็นเป็นหนึ่งเดียว ถ้าหากทุกฝ่าย ไม่ว่ารัฐบาล คสช. นักการเมือง และประชาชนในสังคม น้อมนำ 9 แนวทางปฏิบัติที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ส.ค.

มาปฏิบัติอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

ก็จะเป็นเครื่องนำพาประเทศ ให้หลุดพ้นจากวิกฤตในทุกเรื่องได้แน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน