เป็นอีกประเด็นร้อนที่แทรกขึ้นท่ามกลางเรื่องคดีความการเมือง

คือกรณีคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเปิดทางให้คนนอกที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ หรือพนักงานในมหาวิทยาลัย เป็นอธิการบดี รองอธิการฯ ผู้ช่วยอธิการฯ คณบดี หรือหัวหน้าหน่วยงานได้

ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ทั้งในมุมที่เห็นด้วย และเห็นต่าง

ในความเห็นของอธิการบดี และคนในแวดวงการศึกษาที่สัมผัสปัญหาโดยตรงมองอย่างไร

นพ.อาวุธ ศรีศุกรี
อุปนายกสภามหาวิทยาลัย
รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เหมือนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะปลดล็อกและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏจำนวนมาก ซึ่งยังติดล็อกกับปัญหาเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรที่เหมาะสมในตำแหน่งต่างๆ เป็นการเปิดล็อกประตูทุกบานให้

ส่วนทางมหาวิทยาลัยราชภัฏจะดำเนินการหรือไม่ก็ขึ้นกับทางมหาวิทยาลัยนั้นๆ ที่จะพิจารณา การแต่งตั้งบุคลากรในตำแหน่งต่างๆ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น เข้าใจว่าที่เป็นปัญหาเพราะแต่ละสถาบันยังหาบุคคลที่มีความเหมาะสมไม่ได้

อย่างตำแหน่งอธิการบดีที่ดีๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นหายากมาก ถือเป็นปัญหาของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เวลาที่ได้บุคคลมาดำรงตำแหน่งแล้ว บางครั้งก็เกิดปัญหาเรื่องของความไม่เหมาะสมขึ้นมาอีก
ข้อดีของการใช้ มาตรา 44 คือเพื่อปลดล็อกมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ เป็นเครื่องมือที่ช่วยเปิดทางให้คนนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งในมหาวิทยาลัยราชภัฏได้

แต่ข้อเสียมีอยู่เช่นกัน คือคนนอกย่อมจะเข้าใจความเป็นสถาบันนั้นๆ ได้ยาก รวมถึงการบริหารจัดการต้องรู้ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏนั้นๆ มีหน้าที่ มีเป้าประสงค์อย่างไร ซึ่งจะแตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยเอกชน ที่บางครั้งการบริหารจะมีเรื่องของธุรกิจหรือผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้น คนนอกจะต้องมีความเข้าใจ สามารถใช้ความรู้ ความสามารถมาพัฒนาเพื่อให้สถาบันและมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้นๆ มีความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้

ที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งที่กำกับดูแลโดยนักธุรกิจ บางครั้งก็ทำให้เป้าหมายของการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยมีความเบี่ยงเบนไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกมหาวิทยาลัย

ส่วนที่มีการคาดการณ์หรือตั้งข้อสังเกตกันว่าคำสั่งดังกล่าวเท่ากับเปิดทางให้ตั้งทหารเข้าไปกำกับดูแลมหาวิทยาลัยนั้น คิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แต่เชื่อว่าไม่มีทหารคนไหนอยากเข้ามาคุมหรือดูแล เพราะไม่ใช่เรื่องสนุกเลย ยิ่งคนที่ไม่ชอบแล้วต้องเข้ามารับรองว่าเดือดร้อนแน่ๆ

การจะเข้ามาเป็นอธิการบดีแม้จะเป็นตำแหน่งที่ใหญ่ แต่ก็จะมาสั่งคณาจารย์ไม่ได้ ซึ่งการบริหารจัดการไม่เหมือนกับราชการหรือภาคธุรกิจ

รัฐกรณ์ คิดการ
ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย

เรื่องนี้เราคัดค้านมาตลอดและคิดว่าคงไม่มีการออกคำสั่งเพื่อตั้งคนนอก เพราะได้ชี้ให้เห็นผลเสียที่จะตามมา ตอนนี้ปัญหาของสถาบันอุดมศึกษาคือเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งหลักๆ เกิดมาจากระบบสภาเกาหลัง คือ อธิการบดีตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัย แล้วกรรมการสภาฯมาตั้งอธิการบดี

ตามกฎอธิการฯอายุ 60 ปี ต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่มีการเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตามกัน อีกทั้งพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยระบุให้เป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ แต่ก็ใช้วิธีหมุนเวียน

เช่น ดำรงตำแหน่งอธิการฯ ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ 2 วาระ ก็เวียนไปเป็นที่มหาวิทยาลัยอื่น บางคนอายุ 70 ปี ก็ยังเป็นอยู่

เป็นการเอื้อกัน เพราะกรรมการสภาฯในประเทศไทย มีคนไม่กี่คน แต่นั่งอยู่หลายมหาวิทยาลัย
ที่สำคัญไปนั่งในบอร์ดใหญ่ คือ คณะกรรมการการอุดมศึกษา และ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นบอร์ดสำคัญทางการศึกษา แล้วไปเอื้อกับอธิการฯที่เกษียณให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีก

พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ และพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กำหนดแค่คุณสมบัติที่เหมาะสมเท่านั้น แต่เรื่องอายุจะไปกำหนดใน พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ อธิการฯที่อยากเป็นต่อ ก็จะอ้างว่า พ.ร.บ.ราชภัฏไม่ได้กำหนดอายุไว้ จึงดำรงตำแหน่งต่อได้ ซึ่งความจริงการบริหารงานนี้จะต้องไปดูที่ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน

สภาคณาจารย์ฯ จึงไปฟ้องศาลปกครองชี้ขาด และมีการฟ้องแล้วจบไป 2 คดี ศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลชั้นต้นว่าคนที่จะดำรงตำแหน่งอธิการฯต้องมีสถานภาพเป็นข้าราชการพลเรือนหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษานั้น

แต่ก็ยังมีการตั้งคนเกษียณมาเป็นอธิการฯอีก แล้วบอกว่าถ้ามีปัญหาก็ให้ไปฟ้อง มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ไปฟ้อง แต่หลายที่ไม่ได้ดำเนินการ เพราะหวั่นอาจได้รับผลกระทบ

ปัญหานี้มีมานานแล้ว สภาคณาจารย์ฯ ยื่นฟ้องเพื่อชี้ว่าการให้คนนอกเข้ามาเป็นการขัดต่อกฎหมายที่มี แต่ฝ่ายที่ตั้งอธิการฯเกษียณแล้วระบุว่าถูก จึงต้องฟ้องศาล

จนถูกมองเป็นความล่าช้าในการแต่งตั้งผู้บริหาร จนเกิดผลกระทบต่อการปฏิรูปการศึกษา ความจริงปัญหาความล่าช้าไม่ได้เกิดจากกฎหมาย แต่เกิดจากการไม่ทำตามกฎหมาย

การเปิดช่องให้คนนอกมาดำรงตำแหน่งได้ เป็นเสมือนการเปลี่ยนผิดให้เป็นถูก พอกฎหมายตั้งไม่ได้ก็นำมาตรา 44 มาใช้ ถือเป็นการลบล้างคำพิพากษาของศาล

และหากนำคนนอกเข้ามาก็จะมีปัญหาเรื่องการรับเงินเดือน ไม่สามารถรับจากงบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่ได้ เพราะไม่ใช่ราชการ จึงต้องไปเบิกงบทางมหาวิทยาลัย แล้วการตั้งฐานเงินเดือนก็ตั้งสูงกว่าปกติที่ได้ 2- 3 แสนบาทต่อคน

สรุปมี 2 ประเด็นที่ทางสภาคณาจารย์ฯคัดค้าน 1.การขัดต่อกฎหมายที่มีอยู่ 2.การไปเบียดบังเงินของทางมหาวิทยาลัยที่มาจากค่าเทอมนักศึกษา

นอกจากนี้ ปัญหาที่จะตามมาคือการควบคุมตรวจสอบการบริหารงานที่ไม่มีกฎหมายกำกับดูแล หากทำผิดก็ดำเนินการไม่ได้ เช่น อธิการฯหลายคนที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงก็ต้องถูกไล่ออก แต่คนนอกที่เข้ามานี้ไม่มีผล ต้องไปฟ้องศาลอาญา

กว่าจะจบคดีก็ใช้เวลานาน บางคนเสียชีวิตไปก็มี จึงแก้ปัญหาธรรมาภิบาลไม่ได้เพราะไม่มีสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน

ความจริงแล้วกฎหมายไม่ได้ปิดกั้นการนำคนนอกที่มีความรู้ความสามารถ แต่อายุต้องไม่เกิน 60 ปี โดยเข้ามาเป็นข้าราชการก่อน แล้วขึ้นเป็นอธิการฯ ก็ได้

การที่ คสช. นำอธิการบดีหลายคนไปนั่งตามองค์กรที่ คสช. ตั้งขึ้น เช่น สนช. แล้วคนกลุ่มนี้ก็มามีบทบาทเห็นชอบ ออกกฎหมายแทรกแซงเรื่องนี้ และยังอาจจะเป็นการเปิดช่องให้ทหารเข้ามาดำรงตำแหน่งได้

นอกจากนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มีตำแหน่งอยู่ในสภามหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกฟ้องกรณีแต่ตั้งคนเกษียณแล้วมาเป็นอธิการบดี ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

การใช้ ม.44 จึงถือเป็นการลบล้างอำนาจศาล และยังเกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้น สาเหตุของม.44 ก็อาจจะมาจากจุดนี้ได้ และจะเห็นได้ว่าตอนนี้ทหารเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่หลายกระทรวง

ขณะนี้ทางคณะอาจารย์ตามที่ต่างๆ เริ่มลงชื่อคัดค้านและแสดงความไม่พอใจต่อกฎหมายที่ออกมาใหม่นี้ เพราะเป็นการแทรกแซงทางตรง ก่อนหน้านี้ก็แทรกแซงทางอ้อมมาแล้ว ผ่านการนำอธิการฯจากหลายมหาวิทยาลัยไปอยู่ในทีม

ส่วนกระบวนการสรรหาระบบใหม่นี้จะเลือกจากคนนอกเข้ามาเป็นอธิการฯ แล้วอธิการฯ ก็มีอำนาจล้นมือในการแต่งตั้งรองอธิการฯ คณะผู้บริหารทั้งหมด และสภามหาวิทยาลัย

ซึ่งก็จะนำพรรคพวกของตนทั้งหมดมาดำรงตำแหน่ง และเชื่อว่าคนนอกที่เข้ามาจะทำอย่างที่ว่านี้แน่นอน เพราะอธิการฯก็จะชงแต่งตั้งเองทั้งหมด

เรื่องใหญ่ที่รัฐบาลควรทำคือ นำปัญหาใหญ่ของสถาบันอุดมศึกษาที่เกิดขึ้น 1.คุณภาพตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง 2.บุคลากรทางมหาวิทยาลัย เช่น อาจารย์ เงินเดือนน้อย สวัสดิการต่ำ แต่กลับไปเพิ่มให้พวกครูแทน 3.สวัสดิการพนักงานมหาวิทยาลัย

รัฐบาลควรตรวจดูที่สถาบันอุดมศึกษาและดูว่าปัญหาคืออะไร แต่มาวนเวียนอยู่แค่การแต่งตั้งอธิการฯ เพื่อต้องการสืบทอดอำนาจ ซึ่งจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้

เข้าใจว่านายกฯ ต้องการแก้ปัญหาที่ติดขัดล่าช้า แต่ปัญหาที่แท้จริงคือไม่ใช่กฎหมายที่ทำให้เกิดความล่าช้า แต่เกิดจากไม่ทำตามกฎหมายเท่านั้นเอง

 

นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข
อธิการบดี ม.อุบลราชธานี

หลายมหาวิทยาลัยมีการแต่งตั้งผู้เกษียณอายุราชการเป็นอธิการบดี หรือคณบดี แต่โดยทั่วไปแล้ว อย่างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี การพิจารณาแต่งตั้งฝ่ายบริหารจะดูจากคุณสมบัติ ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถของบุคลากรภายในก่อน

แต่สำหรับบางที่หากบุคลากรภายในอ่อนประสบกรณ์ ก็มีความจำเป็นต้องเลือกคนนอกเข้ามา
โดยหลักปฏิบัติสำหรับมหาวิทยาลัยอุบลฯ หากมีการคัดเลือกแต่งตั้งคนนอกเข้ามา ก็จะดำเนินการจ้างให้เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยก่อน เพื่อให้มีกฎหมายมารองรับ มีศักดิ์และสิทธิ์ สร้างความยอมรับต่อบุคลากร ในการบริหารและปกครอง

ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้คนนอกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ ระเบียบของข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่สามารถตรวจสอบได้ บนบรรทัดฐานเดียวกัน

จุดเด่นของคำสั่งคสช.นี้ จะช่วยให้เราได้คนเก่งเข้ามาพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาให้เจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะบุคคลที่เกษียณราชการไปแล้ว แต่มีความรู้ ความสามารถ และมีเครือข่ายในวงกว้างที่เป็นประโยชน์ต่อภาควิชาการ

ส่วนจุดอ่อน หากคนนอกที่แต่งตั้งเข้ามาไม่ใช่คนในพื้นที่จะทำให้ไม่มีเวลาอุทิศตนให้มหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ และในแง่งบประมาณจ้าง จะสูงกว่าการเลือกบุคคลภายในที่มีตำแหน่งทางวิชาการ และอัตราเงินเดือนที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น

ต่อข้อสังเกตที่ว่าคำสั่งนี้จะเอื้อให้ทหารเข้ามาแทรกแซงภาควิชาการหรือไม่นั้น มองว่านายกฯไม่น่ามีเจตนาเช่นนั้น เพราะการเลือกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นฝ่ายบริหาร หลายมหาวิทยาลัยมีประเด็นตีความข้อกฎหมายว่า ทำไม่ได้ ต้องมาจากคนในเท่านั้น

เมื่อกระทรวงศึกษาฯรับรู้ปัญหาก็นำมาสู่การออกคำสั่งคสช.ฉบับนี้ เพื่อช่วยปิดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นในหลายแห่ง

ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล
อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คำสั่งตามมาตรา 44 เปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ มองว่าเป็นข้อดี เพราะเขาไม่ได้จำกัดเฉพาะคนนอกอย่างเดียว จะเป็นคนในก็ได้ ถือเป็นการเปิดกว้าง ให้โอกาสทั้งคนไหนและคนนอกได้เข้ามาทำงาน และยังเปิดโอกาสคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่บริหารมหาวิทยาลัย

ส่วนที่เป็นห่วงเรื่องการสืบทอดอำนาจนั้น ในระบบการได้มาซึ่งตำแหน่งอธิการบดีหรือผู้บริหาร มีรูปแบบคณะกรรมการสรรหา ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้มีคุณวุฒิและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ คงพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ที่เหมาะสม จึงมองว่าเป็นข้อดีในเรื่องของการเปิดกว้างและการเปิดโอกาส

คิดว่าคำสั่งดังกล่าวของคสช.เน้นการช่วยแก้ปัญหาของบางมหาวิทยาลัย ในเรื่องของคนที่จะเข้ามาเป็นอธิการบดีว่าจะเป็นคนนอกหรือคนไหนก็ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

ส่วนคนที่เข้ามาหากไม่เป็นข้าราชการจะส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือไม่นั้น ต้องดูกระบวนการสรรหาว่าคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารการศึกษาหรือไม่

เชื่อว่าคณะกรรมการสรรหาจะคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถ และมีประสบการณ์ด้านการศึกษามาทำงานอยู่แล้ว คงไม่เลือกบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องทางด้านการศึกษาเข้ามาทำงานอย่างแน่นอน คงไม่ใช่จะหยิบใครมาทำงานก็ได้

โดยสรุปมองว่าการออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาตำแหน่งอธิการบดีในราชภัฏ และราชมงคล ซึ่งเป็นข้อดีทั้งนั้นที่จะเปิดโอกาสให้ทั้งบุคคลภายนอกและภายในมีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่ เป็นการเปิดกว้างในการหาบุคลากร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน