คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การแสดงเจตจำนงของแนวร่วมประชาธิป ไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เพื่อยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. ให้รื้อคดี 99 ศพมาพิจารณาใหม่ เป็นท่าทีที่คล้ายกับกลุ่มพันธมิตรฯ ต้องการให้ป.ป.ช.อุทธรณ์คดี 7 ตุลาคม 2551 หลังศาลมีคำตัดสินแล้ว

แม้วิธีการที่ใช้ในการควบคุมฝูงชน ผลกระทบ และความสูญเสียในเหตุการณ์ปี 2551 กับปี 2553 จะแตกต่างกันมาก แต่ความคาดหวัง ในการให้รื้อและให้อุทธรณ์ต่างตกอยู่กับป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน

หลังจากชุดเก่าดำเนินการและตีตก จนเป็นที่กังขาแก่ผู้คนในสังคมจำนวนมาก

อาจมีความกังวลว่า การเรียกร้องของ ทั้งสองกลุ่มแสดงถึงความขัดแย้งในอดีตที่ยังมีผลมาถึงปัจจุบัน

แต่ถึงอย่างไร การเรียกร้องความยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจและไม่ควรหลีกเลี่ยง

เพราะเป็นเรื่องของชีวิตคน โดยเฉพาะคนที่ถูกกระทำโดยไร้อาวุธ

อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่ป.ป.ช. ต้องแสดงให้เห็นถึงหลักการใช้ดุลพินิจต่อเหตุการณ์ ให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการใช้อำนาจตาม คำสั่งของผู้นำฝ่ายบริหาร

หากยึดตามคำพิพากษาของศาล ควรมุ่งเน้นถึงเจตนาและการเล็งเห็นผลใน คำสั่งดังกล่าว

การใช้อาวุธกระสุนจริงของเจ้าหน้าที่ ในเหตุการณ์ปี 2553 นั้นยังคงเป็นเรื่อง ที่น่าตกตะลึงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากผู้ที่เสี่ยงหรือถูกกระสุนจริงนั้นเป็นพลเรือน มีทั้งที่เป็นผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป

ส่วนข้ออ้างด้านผู้ก่อการร้ายปะปนอยู่นั้น ก็ไม่ได้ปรากฏว่ามีหลักฐานที่ชัดเจน มีแต่ภาพที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ และที่ตาย 99 ศพ ก็ไม่มีผู้ก่อการร้ายแม้แต่รายเดียว

ที่สำคัญคือจะใช้ข้ออ้างนี้ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อพลเรือนที่เป็นประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศ จนเกิดการบาดเจ็บล้มตายมิได้

แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นแล้ว แต่การเรียนรู้บทเรียนเพื่อป้องกันในอนาคตก็สำคัญ

ดุลพินิจตรงนี้จึงต้องอาศัยป.ป.ช. เช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน