หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง 4 จำเลย คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น. คดีสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อ 7 ต.ค.2551 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บอีก 471 คน

กลุ่มพธม.เรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งป.ป.ช.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ภายใน 30 วันหลังมี คำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)และพรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.รื้อคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ซึ่งมีคนตายเกือบ 100 ศพ บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีขึ้นมาพิจารณาใหม่ ซึ่งคดีนี้ป.ป.ช.ชุดเก่ามีมติยกคำร้อง ไม่สั่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯเมื่อเดือนธ.ค.2558

พนัส ทัศนียานนท์

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เหตุการณ์เมื่อปี 2551 และปี 2553 ส่วนตัวมองการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.ยุคนั้นสองมาตรฐานแน่นอน เพราะเป็นคดีสลายม็อบเช่นกัน

กรณีสลายการชุมนุมเสื้อแดงในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกฯ มีการพูดถึงการใช้กระสุนจริง ป.ป.ช.ยังบอกว่าไม่ผิด

แต่การสลายม็อบพธม.ตายไป 2 คน โดยไม่รู้ว่าใครทำให้ตายด้วยก็ตัดสินอีกอย่าง คงไม่ต้องถามว่าเป็นสองมาตรฐานหรือไม่

กรณีการสลายม็อบปี 2553 ป.ป.ช.ดึงเรื่องเอาไปสั่งด้วยซ้ำว่าการกระทำดังกล่าวชอบแล้ว แสดงว่าการยิงด้วยกระสุนจริงถือว่าชอบ ถือว่าไม่ผิด

ถ้าป.ป.ช.ใช้มาตรฐานเดียวกันในการพิจารณาคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 ก็ควรจะบอกว่าการที่อัยการไม่ฟ้องก็น่าจะถูกต้องแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่ยอม โดยนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป.ป.ช.กลับดำเนินการเอง โดยไปให้สภาทนายความดำเนินการให้ ตรงนี้เป็นสองมาตรฐานชัดเจน

ส่วนป.ป.ช.ควรอุทธรณ์คดีสลาย ม็อบพธม.ที่ศาลยกฟ้องหรือไม่และป.ป.ช.ควรรื้อคดีสลายม็อบปี 2553 หรือไม่นั้น ขอไม่พูด เรื่องนี้อยู่ที่เจตนา ทุกคนคงดูออกว่าเป็นอย่างไร

สำหรับความเคลื่อนไหวของทั้งสองกลุ่มคิดว่าไม่น่าบานปลาย แต่ต้องดูว่าสุดท้ายแล้ว ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันจะยอมตามที่กลุ่มพธม.กดดันหรือไม่ ถ้ายอมทำตามคือต้องอุทธรณ์

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ป.ป.ช.มีท่าทีชัดเจนว่าจะไม่อุทธรณ์เมื่อศาลมีการยกฟ้องแล้วก็ควรจะต้องไม่อุทธรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอาศัยตามเกณฑ์ตามคำสั่งคดีในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ก็ควรจะถือว่าเหมือนกัน เพราะเป็นการสลายม็อบเหมือนกัน

อย่าลืมว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมีคนตายเกือบร้อยคน แต่เหตุการณ์ปี 2551 ตาย 2 คน หนำซ้ำไม่รู้ว่าเป็นฝีมือใคร ไม่ได้ชัดเจนว่าตายด้วยกระสุนปืนจริง

แต่ไม่คิดว่าจะวุ่นวายหรือบานปลายจากความเคลื่อนไหวของทั้งสองกลุ่ม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าเอาจริงหรือเปล่า ถ้าเอาจริงโดยไม่ว่าเป็นใครจะปราบทั้งหมดตามที่ลั่นวาจาไว้ว่าไม่ว่าใครก็เคลื่อนไหวไม่ได้ก็คงไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ตอนนี้ต้องช่วยกันเชียร์รัฐบาลให้ดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ว่าใครทั้งนั้น ถ้าเคลื่อนไหวก็ต้องปราบ

สำหรับฝ่ายที่มองว่าตัวเองเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำในเรื่องสองมาตรฐาน หรือฝ่ายนปช.วันนี้ก็ดูว่าไม่มีกำลัง ค่อนข้างหมดแรง ก็คงไม่มีอะไร

ส่วนฝ่ายพธม.ที่บางคนมองว่าหมดแรง แต่ส่วนตัวคิดว่าเขายังมีแบ๊ก อัพอยู่

นคร ชมพูชาติ

อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

โดยหลักป.ป.ช.ควรที่จะต้องยื่นอุทธรณ์คดีสลายม็อบพธม.ปี 2551 เพราะการที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนั้นต้องมีข้อผิดแปลกไปจากข้อมูลที่ป.ป.ช.มี และวัตถุประสงค์ของป.ป.ช.เพื่อที่จะให้มีการลงโทษ

แต่ถ้าศาลไม่ลงโทษ ต้องมาดูว่าเพราะอะไรและต่างจากที่ป.ป.ช. อ้างไว้หรือไม่ ถ้าเหตุผลศาลต่าง คงต้องมาหาถึงข้อโต้แย้งว่าจะมีหรือไม่แล้วยื่นอุทธรณ์ไป

ส่วนที่นปช.เรียกร้องให้ป.ป.ช.รื้อคดีสลายม็อบเสื้อแดงปี 2553 นั้น การจะรื้อคดีต้องมีข้อเท็จจริงใหม่

แต่คงต้องไปดูในคำพิพากษาคดีที่เกี่ยวเนื่องว่ามีความแตกต่างหรืออะไรที่เหมือนกันบ้าง ถ้ามีความแตกต่างกัน จะไปเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ จึงต้องถามว่ามีอะไรใหม่ที่จะพอมาขอให้ต้องรื้อคดี

กรณีที่มีการวิจารณ์ว่าป.ป.ช.ทำหน้าที่สองมาตรฐาน คงขึ้นอยู่กับคณะทำงานมากกว่า การที่จะพิจารณาจะยึดการไต่สวนเป็นหลัก ดังนั้นคงต้องดูว่าการไต่สวนมีความละเอียดมากน้อยแค่ไหน และขึ้นอยู่กับทนายความด้วย

ที่ป.ป.ช.ยกคำร้องคดีสลายม็อบเสื้อแดงคงต้องดูว่าการทำสำนวนนั้นดีพอหรือไม่ ซึ่งเป็นในส่วนของงานทนายความ จึงต้องไปดูว่าคดีดังกล่าวนั้นป.ป.ช.ให้ทนายทำ แล้วทนายมาจากแหล่งไหน เพราะเท่าที่ทราบป.ป.ช.ได้ขอให้สภาทนายความจัดหาทนายความมาให้

ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาที่ว่าทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)มองว่าสภาทนายความไม่ได้มีหน้าที่ที่จะมารับทำคดี เพราะสภาทนายความจะรับทำคดีช่วยเหลือประชาชนซึ่งเป็นงบประมาณจากทางภาครัฐ

ความจริงแล้วป.ป.ช.ต้องจ้างทนาย ความเองโดยตรง แต่ในทางปฏิบัติเขาคงเชื่อในองค์กร เลยขอให้มาช่วยทำคดี

ส่วนกรณีที่นปช. ระบุการสลายม็อบเสื้อแดงมีการใช้กระสุนจริง แต่ป.ป.ช.ไม่สั่งฟ้อง ส่วนการสลายม็อบพธม.ใช้แก๊สน้ำตากลับมีการสั่งฟ้องนั้น ต้องบอกว่านปช.เองก็มีการใช้กระสุนจริงเช่นกัน และมีชายชุดดำ มีระเบิด ทหารเสียชีวิต

ถ้าจะเปรียบเทียบกันคงมีความต่างที่ต่างทางกันอยู่แล้ว และคงต้องไปดูในข้อต่อสู้ของทั้งสองคดี แต่ผลไม่ได้ต่างกันมากคือ ทั้งสองคดีมีการยกคำฟ้องไม่ว่าจะยกในขั้นตอนไหนก็ตาม ดังนั้นจึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้

อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มพธม.กับนปช. ไม่น่าจะวุ่นวายหรือบานปลาย ที่เห็นเป็นการเคลื่อนไหวตามระบบกระบวนการยุติธรรม เว้นแต่จะมีการปลุกระดมไม่ยอมรับผลการตัดสิน

แต่หากยอมรับว่าแต่ละคดีมีข้อเท็จจริงแตกต่างกันไป ปัญหาความวุ่นวายจะไม่เกิด

วิญญัติ ชาติมนตรี

ทนายความกลุ่ม นปช.

การใช้สิทธิ์อุทธรณ์ต่อป.ป.ช. ในคดีสลายการชุมนุมทั้งในส่วนของพธม. และกลุ่มนปช.นั้น ล้วนเป็นสิทธิตามกฎหมายที่สามารถกระทำได้

โดยเฉพาะหากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายมีประเด็นใหม่ที่จะโต้แย้งกับทางศาลสูง ก็สามารถใช้สิทธิยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ดำเนินการได้

ขอตั้งข้อสังเกตว่าการชุมนุมของทั้งสองกลุ่มมีความเหมือนที่แตกต่างกันอยู่

ในความเหมือน คือการชุมนุมของทั้งสองฝ่าย มีฝ่ายบริหารเข้ามากำกับควบคุมการชุมนุม โดยใช้อำนาจตามคำสั่งของนายกฯ ในฐานะฝ่ายบริหาร แต่การชุมนุมของพธม.นั้น ป.ป.ช.ใช้ดุลพินิจว่าผู้บริหารขณะนั้นเข้าข่ายกระทำความผิด เพราะมีผู้เสียชีวิต 2 รายในวันเดียวกัน

และในความต่าง คือการชุมนุมของนปช.นั้น ป.ป.ช.กลับใช้ดุลพินิจว่าคำสั่งและการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ในขณะนั้นที่มีการตั้ง ศอฉ.ขึ้นมา มีการใช้กองกำลังเจ้าหน้าที่ มีการใช้ยุทธภัณฑ์ รวมถึงมีการอนุมัติให้ใช้กระสุนจริง แล้วเหตุใด ป.ป.ช.จึงไม่ชี้มูล

แต่ ป.ป.ช.กลับใช้ดุลพินิจว่าการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ขณะนั้นชอบแล้ว สมเหตุสมผล ดำเนินอยู่ในกรอบของกฎหมายทั้งๆ ที่ความเสียหายและความสูญเสียของนปช.มีความรุนแรง ร้ายแรงมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

พอเป็นเรื่องของพธม. ทางป.ป.ช.กลับบอกว่าการกระทำของ ผู้บริหารนั้นไม่ชอบ

นปช.มองว่าการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการไต่สวน ถือเป็นปัญหาของมาตรฐานการใช้ดุลพินิจ เพราะในส่วนของนปช.นั้น ป.ป.ช.ไม่ได้มองเรื่องความสูญเสียของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งจะย้อนแย้งกับคดีในส่วนของพธม.

ส่วนตัวมองว่าหากมีการเซ็ตซีโร่ป.ป.ช. เห็นว่าป.ป.ช.ชุดใหม่ควรจะรับรื้อคดีสลายม็อบเสื้อแดง เพราะระหว่างการไต่สวน ป.ป.ช.ได้นำคำสั่งไต่สวนการเสียชีวิตของศาลไปพิจารณาด้วยหรือไม่ ซึ่งการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งชัดยิ่งกว่า

ดังนั้น หากป.ป.ช.จะถูกวิพากษ์เรื่องสองมาตรฐาน ก็เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ต้องยอมรับ เพราะมีการใช้ดุลพินิจของทั้งสองกรณีที่ตรงข้ามกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน