การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป 11 คณะโดยรัฐบาล ใกล้ครบถ้วน 165 คนแล้ว

แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือก 11 คณะนี้ ไม่ว่าด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ฯลฯ ล้วนมาจากการแต่งตั้งอีก เช่นเดิม

ตอกย้ำว่า คณะบุคคลที่มาจากการแต่งตั้ง มักจะแต่งตั้งบุคคลต่อไปได้อีกเรื่อยๆ

บุคคลในรัฐบาลอธิบายว่า รายชื่อที่เสนอมานั้นมาจากหลายส่วน ทั้งพรรคการเมืองหลายพรรค และจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยเลือกให้มีข้าราชการร่วมน้อยที่สุด ยกเว้นข้าราชการที่ใกล้เกษียณ เพราะคณะกรรมการชุดต่างๆ จะต้องทำงานหนัก

แต่ประเด็นสำคัญของกรณีนี้อาจไม่ได้อยู่ที่ทำงานหนักหรือทำงานเบา

เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับคณะกรรมการปฏิรูปที่แม้ไม่มีเงินเดือน แต่จะเป็นค่าตอบแทนจะได้รับเป็นเบี้ยประชุมรายครั้ง ครั้งละ 6,000 บาท

กรณีที่ประชุมไม่เกินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือเท่ากับ 8 ครั้งต่อเดือน จะเป็นเงิน 48,000 บาท นับว่าถูกกว่าเงินเดือนของสปท.ครึ่งหนึ่ง

ส่วนวาระการทำงานกำหนดไว้ให้ 5 ปี ในระหว่างนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะลาออกก็ได้ หรือนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เข้ามาบริหารจะปรับเปลี่ยนก็ได้

แต่คำถามที่ประชาชนอยากรู้มากที่สุดอาจไม่ใช่ว่า ค่าตอบแทนของคณะบุคคลที่มาทำงานด้านปฏิรูปกับสปท. ชุดใดจะมากน้อยกว่ากัน เพราะถึงอย่างไรก็มาจากภาษีประชาชนก้อนเดียวกัน

และอาจไม่ใช่ว่า ใครจะลาออกหรือไม่ ภายใน 5 ปีที่กำหนดไว้

สิ่งสำคัญในกระบวนการนี้ก็คือ บุคคลและ คณะบุคคลเหล่านี้เข้ามาสู่กระบวนการทางการเมืองที่จะกำหนดชะตาของประชาชนและประเทศได้อย่างไร

ไม่เฉพาะคณะกรรมการปฏิรูปเท่านั้น ยังมี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 6 คณะ ซึ่งรัฐบาลแจ้งว่าจะเร่งแต่งตั้งให้เสร็จภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้

คำถามที่ลอยอยู่ในสายลมและคงไม่ได้คำตอบก็คือ การปฏิรูปที่ไม่ได้ถามความเห็นจากประชาชน และไม่ได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิด ถกเถียง คัดค้าน แม้แต่การคัดเลือกคณะบุคคลที่จะมาเป็นคณะกรรมการปฏิรูป

จะเรียกว่าเป็นการปฏิรูปตามระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน