ผลจาก ครม.แต่งตั้งกรรมการปฏิรูปประเทศ 120 คน 11 ด้าน นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายการเมือง

ในจำนวน 120 คน ส่วนใหญ่เป็นคนหน้าเดิมๆ ที่ประกอบไปด้วย ข้าราชการ อดีตข้าราชการ ทหาร และอดีตสมาชิกสปท.ที่เพิ่งพ้นวาระ

มีข้อกังวลถึงความรู้ ความสามารถ ความเป็นกลาง

รวมถึงการทำงานภายใต้กรอบของรัฐบาลคสช. อาจ ไม่สัมฤทธิผลสู่การปฏิรูป และแก้ปัญหาความขัดแย้งได้

ในมุมมองของนักวิชาการ นักสันติวิธี อดีตกกต. ต่อกรรมการชุดนี้เป็นไปในทิศทางใด

อนุสรณ์ อุณโณ

คณบดีคณะมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)

ภาพรวม 120 คณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน คือกลุ่มคนหน้าเดิม ที่มีส่วนร่วมสำคัญในการเคลื่อนไหวของม็อบกปปส. เรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จนนำไปสู่การล้มการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557

แง่หนึ่งสะท้อนความเป็นเนื้อเดียวกันของคนกลุ่มนี้กับกองทัพ ที่เข้ามายึดอำนาจบริหารบ้านเมืองจนมาถึงจุดนี้

แง่หนึ่งสะท้อนถึงความมั่นคงในหลักการของบรรดาปัญญาชนสาธารณะที่เป็นวิญญูชน ผู้ยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค ไม่ยอมร่วมเข้าหอลงโรงกับกลไกที่จัดตั้งขึ้น โดยรัฐบาลทหาร

ตามที่นายกรัฐมนตรีออกมายอมรับเองว่าส่วนใหญ่คณะกรรมการปฏิรูปจะเป็นข้าราชการเกษียณ ก็เพราะทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการแล้วไม่ตอบรับ จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับสังคมไทยในอนาคต

คณะทำงานปฏิรูปเหล่านี้ เป็นการเอาใจ 3 มวลชนที่สนับสนุนการถอดถอนการเลือกตั้ง ไม่อาจสร้างความคาดหวังอะไรได้ จะเป็นได้แต่เพียงไม้ประดับ ร่างแผนปฏิรูป เสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ให้ผลักดันบังคับใช้

ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ก็ไม่มีบทบังคับใดให้ฝ่ายบริหารชุดใหม่ต้องน้อมรับแผนงานเหล่านี้โดยดุษฎี

แต่ก็อาจเกิดแนวปะทะเล็กๆ ในอนาคตกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งได้บ้าง หากผลการเลือกตั้ง ผู้มีอำนาจไม่อาจควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากหลังที่เราไม่อาจเห็นได้

เมื่อมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งภายหลังรัฐบาลทหารแล้ว คณะกรรมการเหล่านี้จำเป็นต้องถูกทบทวน เนื่องจากมีที่มาไม่ถูกต้อง จากการร่วมกันของรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจกับมวลชนที่ขัดขวางประชา ธิปไตย

แล้วจากนั้นก็ต้องมาร่วมกันคิดอ่าน เพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริงต่อไป

โคทม อารียา

ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

รายชื่อคณะกรรมการปฏิรูป ที่ปรากฏออกมาแม้จะยังออกมาไม่ครบจำนวน แต่เท่าที่ดูทั้งหมดเป็นชื่อที่คุ้นหูทั้งนั้น ผมไม่แน่ใจว่าการ แต่งตั้งบุคคลเข้ามาทำงานของคสช. โดยทั่วไปจะยึดแนวทางนี้เป็นหลักปฏิบัติหรือไม่ที่จะตั้งเฉพาะชื่อคนที่เขาคุ้นเคย

หรืออาจจะเป็นไปได้ 2 ลักษณะ คือ เวลาเลือกคนเข้ามาทำงาน คสช.จะเลือกคนที่คิดคล้ายกัน หรืออีกกรณีคือ คสช.ไม่รู้จักคนกว้างพอ ที่ได้คนเหล่านี้เข้ามาเพราะเขารู้จักกัน ที่สำคัญคือมีความเชื่อใจเป็นพิเศษ ก็หมายความว่าคนที่เลือกมาก็ต้องรับผิดชอบต่อการทำงาน

อย่างไรก็ตาม จากรายชื่อจะเห็นว่ามีทั้งคนที่เคยเป็นรัฐมนตรี สปช. สปท. และอดีตข้าราชการ ซึ่งการที่บุคคลต่างๆ เคยผ่านงานอะไรมาก็ไม่สำคัญเท่ากระบวนการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปด้านต่างๆ

เนื่องจากที่ผ่านมาเราไม่เคยมีส่วนร่วม ในเมื่อเขาไม่เปิดกว้างเรื่องการมีส่วนร่วม ดังนั้น เขาจะทำอะไรก็ปล่อยเขาทำไป แต่สิ่งที่อยากขอ ก็คือ ขอให้คณะกรรมการชุดนี้ ยึดหลักการมีส่วนร่วม ในการทำงานเรื่องการปฏิรูป เพราะหลักการมีส่วนร่วมถือเป็นหลักการสำคัญที่สุดที่จะทำให้การปฏิรูปสัมฤทธิผลได้

ส่วนที่มีทหารเข้ามาทำงาน ด้วยนั้น คิดว่าไม่ผิดหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทหาร แต่รู้สึกเสียดายที่การปฏิรูปครั้งนี้ไม่มีเรื่องการปฏิรูประบบทหารอยู่ในแผนงานปฏิรูปทั้งที่ควรปฏิรูปอย่างมาก ถ้าหากต้องการให้ประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง

หากคนที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญเรื่องนั้นๆ ได้เข้ามาทำงานก็เป็นเรื่องดี แต่หากไม่มีความชำนาญแค่คิดเองว่าเขาทำงานได้ แบบนั้นก็ไม่เป็นผลดี ต่อการทำงานแน่นอน

แต่จะเหมารวมไม่ได้ว่ามาจากข้าราช การ มาจากกลุ่มนั้นกลุ่มนี้แล้วจะไม่เอา คงต้องดูเรื่องตัวบุคคลมากกว่าว่าเหมาะสมกับงานหรือไม่ ขณะที่อดีตข้าราชการที่เข้ามาทำงานหากเป็นพวกเอาใจนายก็คงไม่เกิดการปฏิรูป

คนที่เหมาะสมกับงานปฏิรูปจะต้องมีหัวก้าวหน้า มองกว้างไกล แบบนี้จึงจะเกิดการปฏิรูป

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

ดูจากรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ไม่แปลกที่ รายชื่อจะวนๆ เวียนๆ อยู่แบบนี้

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งบุคคลเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิรูปครั้งนี้ยังโอเคตรงที่ตั้งทหารเข้ามาเป็นคณะกรรมการ ในจำนวนน้อย หากเปรียบเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ที่การแต่งตั้งมักเลือกใช้ทหารเป็นหลัก แต่ครั้งนี้จะไม่ชูภาพความเป็นทหารเท่าไร

แต่ที่หนีไม่พ้น คือยังมีลักษณะของรัฐราชการตามที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กัน เพราะยังนำข้าราชการทั้งที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ และที่เกษียณราชการไปแล้วเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย

ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่อย่างไรนั้นคงไม่ขอวิจารณ์ เพราะเชื่อว่ามีการวางตัวบุคคลกันไว้แล้ว อย่างน้อยก็ขอเปิดโอกาส ให้คนใหม่ๆ ที่เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิรูปในด้านต่างๆ ได้ทำงานก่อน

ในส่วนของความจำเป็นที่ต้องมีทหารเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยนั้น ขึ้นอยู่กับว่าขณะนี้ใครเป็นแกนหลัก ในเมื่อขณะนี้บ้านเมืองเป็นรัฐทหาร เป็นรัฐบาลคสช. การมีทหาร เข้ามาทำงานจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ย่อมจะต้องเป็นแบบนี้ อยู่แล้ว

อาทิ สมัยก่อนในรัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็มีอาจารย์มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นหลัก ดังนั้น จึงขึ้นกับว่าใครเป็น แกนนำแกนหลักของบ้านเมือง

ส่วนที่มีการแต่งตั้งสมาชิก สปท.บางส่วนกลับเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปอีกนั้น คงไม่ขอวิจารณ์เช่นกันว่ามีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร เพราะก็จะมีบุคคลวนเวียนอยู่แค่นี้ บางส่วนก็คงเป็นเรื่องของการต่างตอบแทนหรือบุญคุณ เห็นรายชื่อแล้วก็รู้ๆ กันอยู่ไม่ต้องพูดอะไรมาก

อย่างไรก็ตาม บุคคลที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปย่อมต้องคิดถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเองอยู่แล้ว การทำงานด้านการปฏิรูปก็คงต้องทำตามแนวคิดที่ คสช.กำหนดกรอบ หรือวางแนวทางเอาไว้แล้ว คงไม่สามารถทำตามหลักสากลได้ทั้งหมด เพราะลงเรือแป๊ะย่อมต้องทำตามใจแป๊ะ จะทำตามใจตัวเองไม่ได้

ส่วนการตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมเข้ามา อีกนั้น เชื่อว่ารัฐบาลมีแนวทางอยู่แล้วว่า จะดึงใครเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ ก็อาจหยั่งเชิงดูว่าใครหรือกลุ่มไหนมีความสนใจ อาจใช้วิธีเปิดรับสมัครให้เข้ามาร่วมได้

ส่วนตัวไม่มีความศรัทธาในแนวทางนี้ตั้งแต่ต้น เพราะการจะมีคณะกรรมการคอยกำกับดูแลรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้ง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็คงจะสร้างความอึดอัดพอสมควร เพราะทำให้รัฐบาลเลือกตั้งไม่สามารถทำอะไรได้เลย

ยิ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศดำรงตำแหน่งนานถึง 5 ปี และสามารถต่ออายุกันได้อีก สิ่งที่ทำได้คือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคงต้องปลดแอก

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาแล้ว ก็ขอให้ทำงานโดยเน้น เรื่องหลักๆ อย่าไปลงรายละเอียดมากนัก รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ ได้แสดงฝีมือ

ที่สำคัญอย่าออกกฎเพื่อคุมรัฐบาลหลังการเลือกตั้งไปหมดทีเดียว ให้รัฐบาลจาก การเลือกตั้งได้เข้ามาทำ หรือกำหนดอะไร เองบ้าง

สดศรี สัตยธรรม

อดีต กกต.

รายชื่อ 120 คน ที่ออกมานั้นก็เห็นได้ ชัดว่าเป็นกลุ่ม ของสปท. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องธรรม ดาที่ คสช.ต้องเอาคนที่ไว้ใจได้มาทำงานด้วย คงไม่เลือกคนที่ทำงานร่วมแล้วปรับจูน กันไม่ได้ หรือไม่สามารถจะพูดคุยกันได้

ส่วนที่รายชื่อส่วนมากเป็นสปท. ทหารและข้าราชการ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของวัฒนธรรมของการเมืองคือ ถ้าจะเอาคนที่พูดกันแล้วขัดแย้งกัน หรือไม่เห็นด้วยตลอดเวลา คงจะทำงานกันลำบากและระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเอาพรรคพวกตัวเอง

เมื่อยุบสปท.ไปแล้ว คณะกรรมการปฏิรูปก็ถือเป็นสปท.ชุดใหม่ เป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองรู้และเข้าใจกันดีว่าคงต้องเป็นชุดเดิมเข้ามาทำงาน และเป็นคนของคสช.เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต้องเลือกคนที่เข้าใจกันจะได้อยู่กันอย่างสบายใจ ทำงาน ร่วมกันได้ดี

และที่มีสัดส่วนของทหารหลายคนก็คงเป็นคนที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของคสช.มาก่อน คือทหารคนสนิท หรือคนที่รู้จักกันดี คงไม่เอานายทหารที่ไม่รู้จักหรือรุ่นก่อน เช่นเดียวกับการมีข้าราชการ อดีตข้าราชการเข้าร่วม ก็คงเป็นคนที่เคยทำงานแก้ปัญหาในกระทรวงต่างๆ มาก่อนอยู่แล้ว ถือว่าเป็นมือทำงาน แต่ก็ต้องเข้าใจและรู้จักกับคสช.ด้วย

ส่วนว่าการแต่งตั้งทั้ง 120 คน ครอบคลุมทุกองค์กร หรือทุกด้านแล้วหรือไม่นั้น เรื่องนี้คงเป็นเรื่องรอง เรื่องใหญ่สุดคงเป็นความเข้าใจกันและร่วมงานกันได้ง่าย

ส่วนเสียงวิจารณ์รายชื่อกรรมการแต่ละชุดบางคนยังไม่ใช่ผู้รู้ และถูกมองถึงความไม่เป็นกลางนั้น ในสถานการณ์ บางอย่างคงต้องเอาคนที่เป็นคนของตัวเองมากกว่าที่จะเอาคนที่มีความเป็นกลาง แต่ไม่เข้าใจหรือทำงานร่วมกันไม่ได้ คงแล้วแต่สถานการณ์ของบ้านเมือง ยิ่งขณะนี้คงต้องการ คนที่พูดกันได้เข้าใจกัน และทำงานร่วมได้

การเลือกคนของตัวเอง ไม่ว่าพรรคไหนเป็นรัฐบาลก็เอาคนของเขามาทำงาน คงไม่มีทางจะเอาคนนอกพรรค ก็เช่นเดียวกันกับคสช. ดังนั้นระบบอุปถัมภ์ถือเป็นเรื่องสำคัญในสังคมไทยและการเมือง เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนก็ทำกัน การขจัดระบบอุปถัมภ์นั้นพูดง่ายแต่ในการปฏิบัติงานก็ต้องเอาคนที่เข้าใจกันมาทำงานร่วมกันได้

มองต่อไปได้ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอีก 36 คน จะเป็นแกนหลักของคสช. ดังนั้น ยิ่งต้องสนิทกันใหญ่ เป็นคนเข้าใจการทำงานของคสช. และมีความสนิทสนม กับหัวหน้าคสช.เป็นอย่างดี คงเช่นเดียวกับการแต่งงาน ที่ต้องแต่งกับคนที่เข้าใจกันและรู้ใจกัน จะได้อยู่กันนาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน