เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมได้มากพอสมควร

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ที่ประกาศแต่งตั้งเบื้องต้น 120 คน จากที่กำหนดไว้ทั้งหมด 165 คน เท่ากับยังเหลือที่ว่างอีก 45 คน ซึ่งจะแต่งตั้งเพิ่มเติมภายหลัง

ในจำนวน 120 คนจากการแยกแยะสายพันธุ์พบว่า

ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มบุคคลที่เคยอยู่ในเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย อาทิ อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อดีตรัฐมนตรี อดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

กับอีกส่วนหนึ่ง คือ อดีตข้าราชการ ข้าราชการใกล้เกษียณ รวมถึงอดีตนายทหาร และตำรวจ ซึ่งทำให้เกิดภาพความเป็นนักอนุรักษนิยม มากกว่านักปฏิรูป

จากองค์ประกอบด้านตัวบุคคล ยังก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ในทางการเมืองว่า เป็นกลุ่มคนหน้าตาเดิมๆ ที่สังคมคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา

นอกจากเป็นผู้ที่เคยมีตำแหน่งในแม่น้ำ 5 สาย ยังเป็นกลุ่มข้าราชการ อดีตข้าราชการ ที่ทำงานใกล้ชิดผู้มีอำนาจมาตั้งแต่ต้น

รวมทั้งกลุ่มคนภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว ที่เคยร่วมมหกรรม “เป่านกหวีด” เรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” จนนำไปสู่การล้มเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557

ก่อนจะลงเอยด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนปัจจุบัน

คสช.ได้ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นในเดือนก.ย.ปีเดียวกัน

บริหารประเทศผ่านเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สปช. คณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีคสช.เป็นแกนหลัก

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยกล่าวถึงบทบาทของสนช. ที่อาจรวมถึงบทบาทของแม่น้ำสายอื่นๆ ด้วยว่า “วันนี้ทุกคนลงเรือลำเดียวกันแล้ว เหมือนคำโบราณที่ว่า ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ ไม่เช่นนั้นจะถูกไล่ลงจากเรือ”

นั่นทำให้สามารถตีความกลับด้านได้ว่า หากใครตามใจแป๊ะ ก็จะได้อยู่ต่อบนเรือ

ตรงนี้เองที่สะท้อนให้เห็นถึง”ที่มา”ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 120 คนได้อย่างชัดเจน

สําหรับภารกิจคณะกรรมการปฏิรูปฯทั้ง 11 ด้าน วาระ 5 ปี ได้รับการกำหนดไว้ 3 ภารกิจหลัก

อย่างแรก คือยกร่างแผนปฏิรูปประเทศภายในระยะเวลา 8 เดือน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและบังคับใช้ได้ภายในเดือนเม.ย.2561

ต่อเนื่องภารกิจที่สอง ติดตามการทำงานของหน่วยงานรัฐทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ว่าได้ปฏิบัติหรือเดินตามแผนการปฏิรูปที่ร่างไว้หรือไม่

หากพบว่าหน่วยงานใดไม่ทำตาม สามารถแนะนำหรือตักเตือนให้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง ถ้ายังไม่ทำตามให้รายงานนายกรัฐมนตรี หากยังไม่ได้ผลก็ให้รายงาน “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” เพื่อใช้มาตรการทางกฎหมาย ด้วยการแจ้งไปที่สนช.

หรือใช้มาตรการของตัวเอง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ

ส่วนภารกิจที่สาม การยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป

อย่างไรก็ตามทั้ง 3 ภารกิจดังกล่าว หลายคนมองว่าเป็นเพียงการทำงานใน”ฉากหน้า”เท่านั้น โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญและใหญ่กว่าแฝงเร้นอยู่เบื้องหลัง

ในทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าใด ที่มีการแต่งตั้งคนใกล้ชิดรายล้อมคสช.เข้ามาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปฯ

แต่สิ่งที่หลายคนเป็นกังวล โดยเฉพาะในภารกิจที่สองของคณะกรรมการปฏิรูปฯ ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลนับจากนี้ ไปจนถึงรัฐบาลหลังเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องถูกควบคุมกำกับโดยคณะกรรมการปฏิรูปฯ จนไม่สามารถคิดหรือกำหนดนโยบายใดๆ ของตัวเองได้

ผลก็คือหากได้รัฐบาลที่มีผู้นำเป็น “คนนอก” ตามที่มีความพยายามปูทางกันเอาไว้อย่างเป็นระบบ การบริหารประเทศในทุกๆ ด้านก็จะไม่มีอะไรแตกต่างไปจากในปัจจุบัน เป็นอย่างไรนั้น ก็อย่างที่เห็นกันอยู่

แต่ปัญหาจะขยายใหญ่ขึ้นทันที หากว่าได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง แต่ไม่สามารถกำหนดทิศทางการบริหารประเทศได้เองตามที่ประชาชนต้องการและเลือกเข้ามา

เนื่องจากต้องอยู่ภายใต้กำกับของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

และตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บังคับใช้ในปัจจุบันกำหนดกลไกการควบคุมการทำงานของรัฐบาล อย่างน้อยในช่วง 5 ปีแรก ไม่ได้มีแต่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศเท่านั้น

ยังมีกลุ่มคนลากตั้งที่เรียกว่า “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” และส.ว. สรรหาอีกด้วย

เมื่อมองผ่านรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่แต่งตั้งไปสดๆ ร้อนๆ

ก็พอคาดเดาได้ถึงรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 36 คน ที่กำลังจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 29 ส.ค. และรายชื่อส.ว.สรรหา 250 คน ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ว่า

น่าจะมีภาพรวมและที่มาไม่ต่างกัน

ตามที่คาดการณ์กันไว้ก็คือ นอกจากผู้นำกองทัพที่ล็อกโควตาเก้าอี้กันไว้แล้ว ส่วนใหญ่จะมาจากคนที่ขึ้นๆ ลงๆ เรือแป๊ะ เพราะคนเหล่านี้แค่มองตาก็รู้ใจว่า เจ้าของเรือต้องการให้พายเรือไปในทิศทางใด พร้อมตอบสนองได้ทุกกระบวนท่า

สำหรับ 250 ส.ว.สรรหา ถึงจะมีบทบาทสูงมากในการมีส่วนร่วมโหวตเลือก”คนนอก”เข้ามาเป็นนายกฯ แต่ก็หมายถึงว่าผลการเลือกตั้งจะต้องออกมาตามเป้าหมาย

กล่าวคือจะต้องไม่ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้รับเลือกตั้งมากเกินไป โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงได้มีความพยายามจะกำหนดกฎกติกาต่างๆ ขึ้นใหม่ เพื่อทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ

แต่หากเกิดความผิดพลาดไม่แน่นอน “คนนอก” ไม่สามารถกลับเข้ามา”สืบต่อ”ได้

ถึงตอนนั้นก็ยังมีกลไกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และกลไกคณะกรรมการปฏิรูปฯ เป็นแผนสำรองไว้อีกชั้น ในการที่จะมัดมือ-มัดเท้า ทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งอยู่ได้อย่างยากลำบาก

จนอาจต้องมีอันเป็นไปในเวลาอันรวดเร็ว

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากมีการประเมินว่า คณะกรรมการปฏิรูปฯ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และส.ว.สรรหา แท้ที่จริงก็คือภาคต่อของแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน

เป็นเรือแป๊ะลำใหม่ ที่มีอายุการใช้งานไปอีกอย่างน้อย 5 ปี

ทำให้การเลือกตั้งที่มาจากอำนาจในมือประชาชนกลายเป็นสิ่งไร้ความหมายไปโดยปริยาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน