เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิม ที่ถูกอุ้มหายไปเมื่อ 11 ปีก่อน โพสต์ภาพจดหมายจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงนามโดยพ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 แจ้งผลการดำเนินคดี โดยระบุว่า ตามที่ท่านได้มาร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้สืบสวนการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งต่อมากรรมการคดีพิเศษ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 7/2548 ลงวันที่ 19 ก.ค. 2548 ให้กรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบมาตรา 10(3) แห่งพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และแก้ไขเพิ่มเติม และกรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษที่52/2548 นั้น

บัดนี้การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรงดการสอบสวน เนื่องจากไม่ปรากฎผู้กระทำความผิด และส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา

โดยนางอังคณา โพสต์อีกว่า #คดีตำรวจอุ้มฆ่าสมชายนีละไพจิตร DSI ใช้เวลาสอบสวนทั้งสิ้น 11 ปี 3 เดือน ก่อนสรุปว่าควรงดการสอบสวน เนื่องจากไม่ตัวผู้กระทำผิด

ถ้าคดีที่พยานหลักฐานมากมายเช่นคดีสมชาย DSI ยังทำไรไม่ได้ แล้ว DSI จะทำคดีเจ้าหน้าที่รัฐ ทรมาน อุ้มหาย อุ้มฆ่า ตาม พรบ ทรมาน -สูญหาย ได้อย่างไร – #วัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวล #CultureOfImpunity

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2559 นางอังคณา เปิดใจในวาระครบรอบ 12 ปีการหายตัวไปของนายสมชาย ระบุว่า 1.นายสมชาย นีละไพจิตร ประกอบวิชาชีพทนายความ และเป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ก่อนเกิดเหตุสมชายให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหา และเป็นทนายให้แก่จำเลยในคดีความมั่นคงของรัฐหลายคดี

2.วันที่ 12 มีนาคม 2547 เวลา 20.30 น. มีชายคนร้ายหลายคนร่วมกันใช้กำลังบังคับนายสมชายขึ้นรถยนต์ของคนร้าย โดยนายสมชายหายตัวไปจนกระทั่งบัดนี้
ปัญหาที่ยังคลุมเครือ คือ ภรรยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสมชายมีสิทธิขอเป็นผู้เสียหายได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้แล้วใครจะเป็นผู้เสียหายคดีการบังคับสูญหาย

ขณะที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ภรรยาและลูกๆของสมชายเป็นโจทก์ร่วมในคดี ในขณะที่ทนายจำเลยพยายามคัดค้านการเป็นโจทก์ร่วมมาโดยตลอด

เมื่อถึงศาลอุทธรณ์ และฎีกา ศาลระบุว่า 1.การที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผลักนายสมชาย และฉุดกระชากนายสมชายเข้าไปในรถของจำเลย ก็ไม่ได้หมายความว่านายสมชายจะบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้

2.เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 โจทก์ (อัยการ) ได้แถลงยอมรับต่อศาลว่า ภรรยาสมชายไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2)

3.ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเห็นว่า ภรรยาและลูกนายสมชายไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์มาตั้งแต่แรก และไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่ต้องพิจารณาฎีกาของครอบครัวในประเด็นอื่นอีก

สำหรับพยานหลักฐาน และประจักษ์พยานในคดี

1.ประจักษ์พยาน

ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เห็นว่า คำเบิกความในชั้นศาลถือเป็นพยานหลักฐานที่ดีที่สุด หรือเป็นพยานชั้นที่ 1 เพราะเป็นการสืบพยานเปิดเผยต่อหน้าศาลและคู่ความทุกฝ่าย การที่ประจักษ์พยานคนหนึ่งไม่ชี้จำเลยในศาล แต่ได้ชี้ภาพจำเลยที่หนึ่งว่าคล้ายส่อไปในลักษณะที่เกิดจากการชักจูงและชี้นำของพนักงานสอบสวน คำให้การของพยานจึงมีพิรุธไม่อาจรับฟังเป็นความจริงให้สนิทใจได้ พยานให้การสับสนรับฟังเอาแน่นอนไม่ได้

ศาลชั้นต้น

“ส่วนในชั้นพิจารณาที่พยานไม่เบิกความยืนยันจำเลยที่ 1 ว่าเป็นคนร้ายตอนที่พนักงานอัยการโจทก์ขอศาลให้พยานดูจำเลยทั้งห้า และให้จำเลยที่ 1 ยืนขึ้นเพื่อให้พยานดูตัวนั้นจะเห็นได้ว่าในขณะนั้นพยานมีอาการหวาดกลัวอย่างเห็นได้ชัด และไม่กล้าหันไปมองหน้าจำเลย อย่างไรก็ตามพยานยังเบิกความยืนยันว่าคล้าย”

2.กรณีมีคำเบิกความว่ามีตำรวจนายหนึ่ง เห็นตำรวจกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันที่กองปราบโดยเล่าว่า “จะไปอุ้มทนายโจร” ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ (อัยการ) ไม่ได้นำตำรวจนายนั้นมาเบิกความต่อหน้าศาล จึงไม่มีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือ

3.ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ ที่แสดงว่าจำเลยติดตามนายสมชายตั้งแต่เช้าวันที่ 12 มีนาคม จนถึงเวลา 20.30 น.

ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เห็นพ้องกันว่า เอกสารไม่ใช่ต้นฉบับเอกสาร แต่เป็นสำเนาเอกสารที่ถ่ายมาโดยไม่มีของบริษัทลงนามรับรองว่าถูกต้อง ประกอบกับโจทก์ไม่ได้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงมาเบิกความยืนยันความถูกต้องของเอกสาร จึงเป็นพยานเอกสารที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามกฎหมาย

ศาลฎีกา ระบุว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่ผู้ใช้โทรศัพท์ติดต่อถึงกัน เป็นส่วนหนึ่งของแผนการคบคิดเพื่อกระทำผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า ข้ออ้างของโจทก์จึงเลื่อนลอยฟังไม่ขึ้น

4.ในส่วนข้อหาลักทรัพย์ ศาลฎีกา ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พบทรัพย์สินของโจทก์อยู่ในความครอบครองของจำเลย

5.การตรวจพิสูจน์รถ ศาลฎีกา ระบุว่า ไม่พบรอยนิ้วมือ เส้นผม เส้นขน และโลหิตของจำเลยทั้งห้าติดอยู่ในรถของนายสมชาย

แต่ข้อเท็จจริง จำเลยทั้งห้า ปฏิเสธการตรวจ DNA ปฏิเสธการถอนผม ถอนขน เพื่อเปรียบเทียบกับกับเส้นผมที่พบในรถของสมชาย

อังคณา เปิดใจว่า “ในฐานะของเหยื่อ ในฐานะผู้เสียหายในคดีการบังคับสูญหาย ที่สังเกตการณ์คดีสมชาย นีละไพจิตร มานับแต่เริ่มเปิดการพิจารณาคดี ในฐานะที่ได้อ่านและศึกษาเอกสารทุกแผ่น ในฐานะที่เผชิญกับการคุกคาม ทั้งก่อนที่นายสมชายจะหายตัวไป และภายหลังจากที่นายสมชายถูกอุ้มหายไปแล้ว ดิฉันขอสรุปประสบการณ์การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมคดีหน่วงเหนี่ยว กักขัง สมชาย นีละไพจิตร ว่า

มันไม่ใช่เหตุผลที่จะรับฟังได้ว่า รัฐไม่อาจให้ความเป็นธรรมเพราะไม่มีศพ หรือเพราะไม่มีกฎหมาย หรือเพราะผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

มันไม่ใช่เหตุผลที่จะรับฟังได้ว่า การชดเชยด้วยเงิน สามารถทดแทนความยุติธรรม และความผิดชอบของรัฐ

ในโอกาส 12 ปีการบังคับสูญหาย สมชาย นีละไพจิตร ดิฉันขอเรียกร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่รับคดีฆาตกรรมสมชาย เป็นคดีพิเศษ มาตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2548 ให้เร่งรัดการสืบสวนสอบสวนเพื่อนำคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ให้รีบเร่งให้สัตยาบันว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับขององค์การสหประชาชาติโดยทันที

ขอให้รัฐบาล รีบเร่งดำเนินการให้มีกฎหมายภายในประเทศ ที่สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการบังคับบุคคลสูญหาย โดยไม่สมัครใจของ สหประชาชาติ เพื่อให้การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ จนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย ให้ครอบครัว มีสิทธิที่จะดำเนินการในการแทนกับผู้สูญหาย ให้มีการเปิดเผยความจริง ฟื้นฟูเยียวยาครอบครัว และคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อทุกคน

ขอให้รัฐบาลเชิญคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาติ เข้ามาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

และแม้ดิฉันจะมีความเข้มแข็ง และกล้าหาญ แต่ดิฉันรับรู้ได้ดีถึงความทุกข์ทรมานจากการสูญเสีย การมีชีวิตอยู่กับความคลุมเครือ และการถูกคุกคาม และในท่ามกลางประสบการณ์ที่พ่ายแพ้และเจ็บปวดระหว่าง 12 ปีของการสู้คดีอย่างเปิดเผยในศาล ดิฉันเชื่อว่าคดีสมชายได้สร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่แก่สังคมไทย แก่กระบวนการยุติธรรมไทย อย่างที่ดิฉันเน้นย้ำว่าสิ่งที่ดิฉันพูดมาทั้งหมดไม่มีเจตนาในการกล่าวหาใคร หรือหน่วยงานใด หากแต่ดิฉันเชื่อว่าการพุดความจริง การยอมรับความจริง ซึ่งแม้จะเป็นความล้มเหลว เป็นความบกพร่อง แต่มันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เพื่อเกิดการสร้างความตระหนักให้เกิดความพยายามในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และยุติวัฒนธรรมการงดเว้นโทษในสังคมไทยต่อไป

12 ปีของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ในฐานะเหยื่อและพยานของการบังคับสูญหายในประเทศไทย ดิฉันยืนยันได้ว่า กรณีการบังคับสูญหาย “กระบวนการยุติธรรม ไม่เป็นธรรม”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน