คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การขอความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐต่อสื่อโทรทัศน์ให้รายงานการทำงานและผลงานของรัฐบาลนั้นมีมาเสมอ ไม่ใช่เพิ่งมีในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่เป็นข่าวครึกโครมในครั้งล่าสุดนี้

อาจเพราะสื่อโทรทัศน์ถือกำเนิดและเป็นสมบัติที่รัฐบาลหรือกองทัพดูแลและควบคุมอยู่

แม้จะมีความพยายามหาเส้นทางให้สื่อโทรทัศน์เป็นอิสระหรือควบคุมโดยประชาชนมาหลายครั้ง แต่ก็ยังติดขัดด้วยระเบียบปฏิบัติ กฎหมาย และงบประมาณ

ยิ่งในช่วงเวลาที่การเมืองถูกควบคุมอย่างเข้มข้น การปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปให้โทรทัศน์เป็นสื่อเสรีจึงยากขึ้นไปอีก

กรณีการขอความร่วมมือจากสื่อโทรทัศน์ในครม.สัญจรสัปดาห์นี้ มีคำชี้แจงจากรัฐบาลว่าไม่ได้บังคับหรือกดดัน เพียงแต่อยากเกลี่ยข้อมูลผลงานของรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ให้รอบด้าน หลากหลาย และมีประสิทธิภาพเข้าถึงประชาชน

คำขอดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงว่าเหมาะสมหรือไม่ ในขณะที่มีข้อโต้แย้งจากสมาคมสื่อที่เกี่ยวข้อง ว่าสื่อมวลชนไม่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์รัฐบาล แต่ต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ

กรณีนี้หากปล่อยให้สื่อทำหน้าที่ไปโดยเสรีแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องขอความร่วมมือแต่ อย่างใด

ยิ่งเมื่อรัฐบาลมั่นใจว่ากำลังทำเพื่อประโยชน์สาธารณะอยู่เช่นกัน

ในทางวิชาการ ทฤษฎีว่าด้วยสื่อทำหน้าที่ร่วมผลักดันการพัฒนาของประเทศ หรือ Development media theory เป็นแนวทางที่เหมาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและเป็นพลัง

แต่บทบาทสื่อตามทฤษฎีนี้มักถูกตีความให้เข้าใจผิดว่าสื่อต้องให้ความร่วมมือกับรัฐ

ทั้งที่แท้จริงแล้วความเป็นอิสระของสื่อที่จะทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบการทำงานของรัฐโดยปราศจากการควบคุมหรือแทรกแซงยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด

เพราะการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ประสบความสำเร็จแท้จริงนั้นล้วนอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยทั้งสิ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน