รายงานพิเศษ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีแนวคิดปรับอำนาจหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นเพียงผู้กำกับดูแล และให้ท้องถิ่นจัดเลือกตั้งเอง ส่วนกกต.เหลือหน้าที่จัดเลือกตั้งระดับประเทศเท่านั้น

นักวิชาการเห็นด้วยกับแนวคิดนี้หรือไม่

%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%92%e0%b8%99%e0%b8%b0-%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b9%83%e0%b8%88%e0%b8%94%e0%b8%b5

พัฒนะ เรือนใจดี รองอธิการบดี ม.รามคำแหง

ถ้าให้ส่วนท้องถิ่นที่ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยมาจัดการเลือกตั้ง ก็จะกลับไปสู่จุดเดิม ทั้งที่เราผ่านจุดนี้มาแล้ว

จะเกิดปัญหาเรื่องรัฐมนตรีที่สังกัดสมาชิกพรรคการเมืองเป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้ง เกิดข้อครหาเรื่องการให้คุณให้โทษผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทุกกระบวนการ ไม่ว่าการพิมพ์บัตร การสรรหากรรม การประจำหน่วยที่จะต้องมีการตั้งคำถามว่า เป็นคนของพรรคไหน การเลือกพื้นที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง ก็ถูกจ้องมองว่ามีการปรับเปลี่ยนไปอยู่ในพื้นที่ของใครหรือไม่ ตลอดจนการนับคะแนนหน้าหน่วย การเคลื่อนย้ายบัตรลงคะแนนไปยังส่วนกลาง

แม้จะอ้างว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่เกิดปัญหาเรื่องนี้ เพราะอยู่ระหว่างรัฐบาลของคสช.ที่มาจากกองทัพ ไม่ใช่พรรคการเมือง แต่ในอนาคตเราต้องมีพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอยู่ดี

หากกรธ.มีความต้องการทำการเลือกตั้งแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตให้ดียิ่งขึ้น ไม่ควรไปสนใจอำนาจต้นทาง ควรปล่อยให้กกต.รับผิดชอบเหมือนเดิม เพราะมีประสบ การณ์จัดเลือกตั้งมา 10 กว่าปีแล้ว

กรธ.ควรไปปรับในส่วนของอำนาจปลายทาง เรื่องการรับรองผลการเลือกตั้ง ยกระดับให้มีความโปร่งใสมากขึ้น มีการคานอำนาจกันมากขึ้น เพราะเราเลือกที่จะไม่ให้มีศาลเลือกตั้ง แล้วให้การเลือกตั้งไปจบที่ศาลฎีกา ที่จะมีปัญหาเรื่องความล่าช้า ก็ต้องให้กกต.มีอำนาจชัดเจนมากขึ้น

แต่ต้องปรับปรุงให้มีความชัดเจน ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา ต้องมีกฎเกณฑ์ร่วมกันคือ วิธีพิจารณาความคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง กรธ.ควรจะพิจารณาในส่วนนี้ว่า จะใส่ไว้ในกฎหมายลูก หรือจะไปแยกออกเป็นกฎหมายอีกฉบับต่างหาก แต่ตนมองว่า ควรใช้โอกาสจัดทำร่างกฎหมายลูกใหม่รอบนี้ ใส่วิธีพิจารณาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้เลย เพื่อให้มีบรรทัดฐานการทำงาน

ส่วนกกต.จะเป็นเสือกระดาษไปหรือไม่ ก็ขึ้นกับการทำหน้าที่ของกกต.เองว่า จะเป็นไปตามหลักสากล หรือจะเป็นเหมือนที่ผ่านมา ที่ตัดสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครด้วยคำว่า มีเหตุอันควรเชื่อว่าทุจริต ตัดพยานที่จะแก้ต่างให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือสำนวนจากกกต.จังหวัด ตกหล่นไปเมื่อมาถึงกกต.กลาง แล้วก็โต้แย้งกันเรื่องความเป็นธรรม

%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%a9%e0%b8%8e%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b9%8c-%e0%b8%9b%e0%b8%b2%e0%b8%93%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%9a%e0%b8%b8%e0%b8%95%e0%b8%a3

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ข้อเสนอของกรธ.ที่ให้ กกต.เพียงกำกับดูแลการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับของเดิมหรือก่อนหน้าที่เป็นอยู่นี้ แม้ว่าจะมี กกต.ประจำจังหวัด แต่คนที่ดูแลการเลือกตั้งจริงๆ คือหน่วยงานที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น

การเลือกตั้งและการเมืองในระดับท้องถิ่นเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะซับซ้อน ซึ่งในแต่ละพื้นที่มักมีบริบทที่ต่างกัน ในแต่ละจังหวัดจะมีการปกครองคนละรูปแบบ จึงต้องถามไปยัง กกต. ว่าถ้าจะให้มีอำนาจเข้ามากำกับดูแลโดยตรงในระดับท้องถิ่นจะสามารถมีความเข้าใจในพื้นที่หรือไม่

เนื่องจากการเมืองในระดับท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อในเรื่องของผู้มีอิทธิพล หรือนักการเมืองที่มีอำนาจ คอยควบคุมดูแล บางจังหวัดผู้ว่าฯเดินตามกำนัน การจะเข้ามาจัดการในเรื่องนี้จำเป็นต้องลงพื้นที่มาศึกษาหาข้อมูลรายละเอียด ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบมองจากข้างบน

จึงต้องย้อนกลับไปถาม กรธ.ว่า ถ้าจะไม่ให้กกต.มีบทบาท หรือจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แล้วหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับบทบาทนั้น จะเป็นผู้ว่าฯ นายอำเภอหรือปลัด กรธ.ต้องตอบให้ชัดเจน แล้วถึงจะถามต่อไปได้ว่า กรธ.ได้รับรู้ถึงโครงสร้างในแต่ละพื้นที่หรือไม่

ถ้าให้ท้องถิ่นจัดเลือกตั้งในท้องถิ่นกันเองอะไรจะเป็นหลักประกันว่าหน่วยงานในท้องถิ่นไม่ได้เป็นพรรคพวกของผู้มีอิทธิพลหรือนักการเมืองในพื้นที่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้สั่งสมมาอย่างยาวนาน

แทนที่จะเขียนกฎหมายให้การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นรวมอยู่กับการเลือกตั้งระดับประเทศ เป็นกฎหมายเล่มเดียวตั้งแต่แรก กกต.จะได้มีความเชี่ยวชาญ แต่มาจนถึงตอนนี้คงทำอะไรไม่ได้มาก

การแก้ปัญหานี้คือต้องย้อนกลับไปในเรื่องการกระจายอำนาจให้เกิดความอิสระอย่างแท้จริง มีมาตรฐาน รวมทั้งเพิ่มการตรวจสอบจากภาคประชาชน ที่หากร้องเรียนแล้วต้องบังเกิดผลไม่ใช่เรื่องเงียบ

เพราะไม่ว่าจะให้หน่วยงานใดระหว่าง กกต.กับท้องถิ่น เป็นคนจัดเรื่องเลือกตั้งก็ไม่น่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมานานได้มากเท่าไหร่

%e0%b8%98%e0%b8%99%e0%b8%9e%e0%b8%a3-%e0%b8%a8%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b9%e0%b8%a5

ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กกต.ควรเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาจัดการเลือกตั้งในส่วนของท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ถูกแล้ว เพื่อที่ตัวเองจะได้ปรับบทบาทจากผู้กำกับดูแล มาเป็นเพียง ผู้ออกหลักเกณฑ์กลาง

ถ้ากกต.ยังใช้โครงสร้างแบบเดิม จะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ จึงควรให้กลไกในระดับท้องถิ่นเข้ามาดำเนินการจัดการเลือกตั้งด้วยตัวเอง เพราะที่ผ่านมากลไกการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของกกต. ก็มีข้อสงสัยให้ไถ่ถามมากมาย ว่าไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ และจะถือว่าไม่มีประสิทธิภาพถ้าเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้จ่ายออกไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กรธ.ต้องทำคือหากเห็นว่ากลไกกกต.ไม่มีประสิทธิภาพก็ต้องปรับแก้ แต่ต้องไม่ใช่กลไกของรัฐที่ใช้กระทรวงมหาดไทยจัดการเป็นหลัก แต่ให้คนในท้องถิ่นจัดการเอง โดยที่ภาครัฐปรับบทบาทอำนวยความสะดวก หากทำได้แบบนี้จะทำให้กลไกเติบโตเอง

เชื่อว่า หากท้องถิ่นแบบภาคประชาสังคมจัดการเลือกตั้งกันเอง จะราบรื่นไม่เป็นปัญหาแน่นอน เพราะเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งนั้น เขาผ่านเรื่องแบบนี้มาเยอะแล้ว เขาเห็นจุดอ่อนกกต.มากมาย ถึงเวลาแล้วที่ให้เขาพัฒนาและเติบโตขึ้นมา

ย้ำว่าการที่เห็นด้วยกับการปรับบทบาทกกต. แต่ไม่เห็นด้วยกับการให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง แต่ควรออกแบบให้ภาคประชาสังคมได้จัดการ ไม่ได้แปลว่าผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดกติกาเลือกตั้ง

และมองว่าแม้ปรับบทบาทกกต.ก็จะไม่ใช่แค่เสือกระดาษ เพราะประเทศที่พัฒนาแล้ว การเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยประชาชนในท้องถิ่นทั้งนั้น แต่กกต.จะออกเป็นหลักเกณฑ์กลาง หรือกฎระเบียบบางอย่าง

อีกทั้งกกต.ยังมีความจำเป็น แต่ต้องปรับบทบาทไปจากเดิม ไม่ใช่บริหารจัดการทุกย่าง แต่ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ขับเคลื่อน เป็นการเพิ่มอำนาจประชาชน และประชาชนจะได้ตระหนักว่าตัวเองมีอำนาจเพิ่มขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน