กรณีนักเขียนระดับเจ้าของรางวัลซีไรต์และศิลปินแห่งชาติถูกประท้วงอย่างกว้าง ขวางทั้งในวงการวิชาการและคนทั่วไป หลังน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงไม่มาฟังคำตัดสินที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น อาจไม่ได้สะท้อนจากบทกวีเพียงไม่กี่บท หรือคำผวนเพียงไม่กี่คำที่แสดงอารมณ์และความคิดเห็น

แต่เพราะตอกย้ำพฤติกรรมและการแสดงออกของกลุ่มนิยมขวาทางสังคมและการเมืองมานานพักใหญ่ในความขัดแย้งทางการเมืองของไทย

เป็นส่วนหนึ่งในปรากฏการณ์เฮตสปีช หรือการปลุกระดมความเกลียดชังทางการเมืองที่น่าตกตะลึง

เพราะเน้นการใช้ถ้อยคำเหยียดเพศมาโดยตลอด

อาจเพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ จึงทำให้ความเป็นผู้หญิงกลายเป็นจุดโจมตีใหญ่ในเฮตสปีชที่ดำเนินมาตั้งแต่การชุมนุมต่อต้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทั่งเกิดเหตุรัฐประหารในปี 2557

ทั้งที่ในกลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านั้น จำนวนมากได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นนักการเมืองชื่อดัง หรือเป็นดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง แต่กลับไม่ตระหนักถึงผลกระทบของ เฮตสปีชในการเหยียดเพศที่มุ่งเน้นการทำร้ายตัวบุคคล กดขี่ทางเพศ และบั่นทอนการพัฒนาความเท่าเทียมชายหญิงของคนในสังคม

กระทั่งกรณีล่าสุดนี้ที่ผู้เชี่ยวชาญภาษากลับใช้ทักษะของการสร้างสรรค์ไปในทิศทางตรง กันข้าม

จึงเป็นเรื่องที่สมควรต้องทบทวนร่วมกัน

การแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์น.ส. ยิ่งลักษณ์ในฐานะบุคคลสาธารณะและเป็นอดีตผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างยิ่ง เหมือนกับนักการเมืองคนอื่นๆ ที่อาสาเข้ามานำเสนอนโยบาย และทำงานเป็นตัวแทนประชาชน

ต้องรับได้ทั้งเสียงชมและเสียงตำหนิติเตียน เสียงสนับสนุนและเสียงทักท้วงในผลงานและความเคลื่อนไหวต่างๆ

แต่ในฐานะผู้หญิงและแม่ ย่อมสมควรได้รับความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐานที่ไม่สมควรตกเป็นเหยื่อของการเหยียดเพศ หรือเฮตสปีช

ความเกลียดชังและขัดแย้งกันในสังคมไทยนั้นน่าจะมีมากเกินพอแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน