เป็นที่รู้กันว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” และ ผลักดัน พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 กระทั่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา

พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 กำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน อันจะก่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่า 20 ปี

หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ

ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายการบริหารราชการ แผ่นดินของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและแผนอื่นใด รวมทั้งการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้มี “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 34 คน เข้ามาจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ประชุมครม.เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ โดยตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปัจจุบันคือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นรองประธานกรรมการ โดยตำแหน่ง

นอกจากนี้ยังมี กรรมการโดยตำแหน่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย

ที่ประชุมยังได้แต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

พร้อมแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน 8 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 2.ด้านเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 3.ด้านสังคม นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นายกานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 4.ด้านการศึกษา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

5.ด้านสาธารณสุข นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีตรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม-โครงสร้างพื้นฐาน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี 7.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 8.ด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม

ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 ตำแหน่ง ครม.จะ แต่งตั้งในโอกาสต่อไป

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี เมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

1.จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอครม.

2.กำหนดวิธีการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการ จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ และการมีส่วนร่วมในการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน ให้ประชาชนทุกภาคส่วนดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

3.เสนอความเห็นต่อรัฐสภา ครม. หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ

4.กำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ

5.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ แต่ละคณะมีจำนวนไม่เกิน 15 คน เพื่อพิจารณาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

โดยกำหนดให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2559 จัดทำขึ้นมาใช้เป็นหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นดังกล่าว

และให้นำความเห็นหรือข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูป แห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง มาประกอบการพิจารณา รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมร่างยุทธศาสตร์ชาติให้สอดคล้องกับผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติภายใน 45 วันนับแต่วันที่การรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ

จากนั้นให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติและเสนอต่อครม.ภายใน 30 วันนับแต่ วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งครม.ต้องพิจารณาและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากครม.

ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างยุทธศาสตร์ชาติที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบแล้วขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

กรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงก่อนที่ครม.จะเสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้ครม.เสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่ครม.ให้ความเห็นชอบแล้วต่อวุฒิสภาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ครม.แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงก่อนการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติจะแล้วเสร็จ ให้วุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติต่อไปให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่ และในกรณีที่จำเป็นอาจขยายระยะเวลาอีกได้แต่ต้องไม่เกิน 10 วัน เมื่อวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 10 วัน

ในกรณีที่การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท เป็นผลจากมติครม. หรือเป็นการดำเนินการของครม.โดยตรง ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและวุฒิสภาทราบ และให้วุฒิสภาดำเนินการตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ

กรณีที่วุฒิสภาเห็นว่ากรณีเป็นปัญหาว่ามติของครม.หรือการดำเนินการของครม.เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้วุฒิสภามีมติเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของครม.หรือการดำเนินการของครม.เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยเร็ว

ทั้งนี้ ให้ป.ป.ช.พิจารณาและมีมติให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ฟังข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า คณะกรรมการชุดนี้ถือเป็นซูเปอร์บอร์ดของยุทธศาสตร์ชาติ อาจจะมีทหารอยู่บ้างส่วนหนึ่ง ก็อย่าไปกังวล เพราะการทำงานต้องเดินตามกลุ่มยุทธศาสตร์ชาติข้างล่าง 6 กลุ่ม คณะกรรมการชุดนี้จะต้องกำหนดว่าจะเดินหน้าประเทศไปอย่างไร 20 ปี ออกไปเป็นแผนปฏิรูปทุก 5 ปี มันต้องแก้แบบ ซึ่งไม่ใช่ง่าย

“ไม่ใช่จะตั้งอย่างนี้แล้วเป็นการสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่เลย ผมต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปให้ได้เท่านั้นก็มีความสุขแล้ว”

ต้องติดตามกันต่อไปว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะเข้ามีบทบาทในการควบคุมและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลชุดต่อๆไปตามที่มีการวิจารณ์กันอย่างไรหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน