ศิลปินแห่งชาติ ประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2528 โดยม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับการยกย่องในสาขาวรรณศิลป์ นายเฟื้อ หริพิทักษ์ สาขาทัศนศิลป์ นายมนตรี ตราโมท และท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี สาขาศิลปะการแสดง

ยกย่องให้เป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติ ให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้า

จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน

อีกทั้งต้องเป็นผู้มีคุณธรรม มีความรักในวิชาชีพของตน และมีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

ผู้ที่ได้รับการประกาศชื่อจะได้รับพระราชทานเหรียญศิลปินแห่งชาติ ที่แสดงถึงความเป็นปราชญ์ในทางความรู้ ความสามารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะ อุทิศตน สร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะไว้มากมาย จนเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาติ

แบ่งเป็น 4 สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม สาขาวรรณศิลป์ และสาขาศิลปะการแสดง ที่รวมเอาการละคร การดนตรี และการแสดงพื้นบ้านด้วย

ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 270 คน เสียชีวิต 118 คน ยังคงเหลือ 152 คน ได้รับเงินเดือนคนละ 25,000 บาทตลอดที่มีชีพอยู่ รวมถึงสวัสดิการต่างๆ อีกไม่น้อย

เป็นรายรับที่รัฐจ่ายให้จากภาษีของประชาชน

กรณีศิลปินแห่งชาติที่ถูกวิพากษ์บทกวีเหยียดเพศแม่นั้น มีเสียงเรียกร้องให้ถอดพ้นจากสถานะตามมา พร้อมกับมีแนวคิดจะล่ารายชื่อยื่นเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรม

ขณะที่บรรดานักเขียน ศิลปิน และกวีเกือบ 200 คน ก็ร่วมกันลงชื่อและออกแถลงการณ์ประณามว่าละเมิดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งร่างกาย เพศ อารมณ์ และสติปัญญา

ย้ำจุดยืนในฐานะนักเขียนรางวัลซีไรต์จะต้องยึดมั่นต่ออนุสัญญาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และเรียกร้องสมาคมนักเขียนยกเลิกส่งบุคคลดังกล่าวเป็นตัวแทนไปร่วมแสดงผลงานในเวทีกวีอาเซียน

น่าจะเป็นบทเรียนให้ซีไรต์และศิลปินแห่งชาติ รวมทั้งเป็นการถามถึงจิตสำนึกรับผิดชอบด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน