สถานการณ์การสู้รบในรัฐยะไข่ของพม่าที่ดำเนินมาเกินหนึ่งสัปดาห์เป็นข่าวใหญ่ในระดับโลกและเป็นเรื่องที่ทางการและกองทัพไทยติดตามอย่างใกล้ชิด

กองทัพบกระบุว่าให้กองทัพภาคที่ 4 เพิ่มความระมัดระวัง เพราะประเมินกันว่า ถ้าชาวโรฮิงยาจะเดินทางมาฝั่งไทยน่าจะเป็นทางเรือ

ในขณะที่กองทัพเรือดูแลพื้นที่ทางทะเลด้วยความตื่นตัว

ด้านรัฐบาล เพิ่งต้อนรับผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาและได้รับคำอธิบายถึงสถานการณ์และคำยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทย

เพราะด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่คนละฝั่งกับแนวชายแดนติดกับไทย และคงไม่มีการอพยพผ่านเส้นทางทางทะเลมาถึงไทย


ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไทยอยู่เล็กน้อยในขณะนี้ คือกรณีที่เมียนมาขอให้ไทยเรียกชาวโรฮิงยา ว่าเบงกาลี
เพราะมีลักษณะย้ำถึงชาติพันธุ์ที่อยู่ในบังกลาเทศ ในขณะที่ทางการเมียนมาไม่ยอมรับชาวโรฮิงยาเป็นพลเมืองของตนเอง ทั้งที่คนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่มาช้านานและเป็นประชากรส่วนใหญ่ในรัฐยะไข่
ข้อสังเกตนี้ มีผู้เชี่ยวชาญการศึกษาชาติพันธุ์และนักสิทธิมนุษยชนที่ติติงว่า ทางการไทยไม่จำเป็นต้องขานรับ เพราะเป็นข้อเรียกร้องจากฝั่งเดียว

การเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยความเคารพ ควรเรียกตามชื่อที่ชาติพันธุ์นั้นๆ เรียกตัวเอง
อีกทั้งสิทธิในการใช้คำเรียกก็เป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศนั้นๆ ด้วย
แม้ว่าจะเจริญความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐมีความสำคัญและเป็นทางการ แต่ในระดับประชาชนและการแสดงถึงสิทธิมนุษยชนก็ควรส่งเสริมไม่แพ้กัน

สถานการณ์ความปั่นป่วนในรัฐยะไข่ขณะนี้น่าวิตกอย่างยิ่งในเรื่องการใช้อาวุธที่มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 400 ราย

ส่วนตัวเลขผู้อพยพสูงเกือบ 40,000 คน จากการประเมินของสหประชาชาติ

ความขัดแย้งที่เกิดจากการถูกกดขี่ให้ไร้สิทธิไร้เสียงจนมีกลุ่มคนจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐ เป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนมาก่อนหน้านี้แล้ว และมีตัวอย่างให้เห็นอยู่ทั่วโลก

แม้ว่าผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ยังมาไม่ถึงไทย แต่เป็นเรื่องที่คนในสังคมไทยต้องตระหนักให้ดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน