ภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จากกรณีสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช.เมื่อปี 2553

มีการเสนอความเห็นถึงแนวทางการต่อสู้คดีในหลายแง่มุม ทั้งการยื่นเรื่องขอรื้อฟื้นคดีไปยังป.ป.ช. ซึ่งฝ่ายผู้เสียหายยืนยันมีหลักฐานใหม่

การให้ญาติผู้เสียหายยื่นตรงต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อสั่งไต่สวน เพื่อเอาผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

หรือการแยกฟ้องความผิดจากการกระทำเป็นรายบุคคล ซึ่งเป็นการเอาผิดในระดับผู้ปฏิบัติ

โชคชัย อ่างแก้ว
ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหาย

ก่อนหน้านี้ที่ ป.ป.ช.ไต่สวนนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ แต่ข้อหาอื่นยังไม่ได้ไต่สวน ต่อไปการไต่สวนของ ป.ป.ช.ต้องไต่สวนข้อหาอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่คนอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

ก่อนหน้านี้ที่ ป.ป.ช.ไม่ชี้มูลความผิดนายสุเทพ กับนายอภิสิทธิ์ ซึ่งได้ส่งพยานหลักฐานที่เป็นคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพที่ศาลมีคำสั่งไปให้แล้ว แต่ครั้งที่ ป.ป.ช.มีมติไม่ทราบว่าได้วินิจฉัยส่วนใดบ้าง ฝ่ายผู้เสียหายไม่มีโอกาสทราบได้เลย ซึ่งควรเปิดเผยสำนวนไต่สวน เช่นเดียวกับคำพิพากษาที่เปิดเผยและคัดถ่ายได้

ประเด็นสำคัญตอนนี้คือ ประธาน ป.ป.ช.พูดแล้วว่าหากมีพยานหลักฐานใหม่ก็อาจรื้อฟื้นคดีขึ้นได้อีก แต่ยังไม่ทราบว่าหลักฐานที่พิจารณามีรายละเอียดเป็นอย่างไร และคำว่าหลักฐานใหม่คืออะไร แค่ไหน เพราะไม่สามารถเข้าไปตรวจสำนวนได้เสมือนเป็นเรื่องความลับ

เมื่อครั้งนี้ศาลฎีกาวางแนวคำพิพากษาไว้แล้วก็จะนำคำวินิจฉัยไปประกอบการยื่นคำร้องเพื่อรื้อฟื้นคดีและให้ ป.ป.ช. ไต่สวนทุกๆ ข้อหาที่เกี่ยวข้องด้วย

การร้องป.ป.ช.ครั้งใหม่นี้ นอกจากตัวนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพแล้ว ยังจะร้องให้ไต่สวนเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากหลายคำสั่งก็เห็นแล้วว่าการตายเกิดขึ้นจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติตามคำสั่งของ ศอฉ. ไม่ใช่ไต่สวนเฉพาะนายสุเทพหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงๆ เท่านั้น

กำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถหารายชื่อที่ปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอ เพราะตอนมีคำสั่ง ศอฉ.ต้องมีตัวคำสั่งอยู่ว่าใครทำหน้าที่อย่างไร ผู้นำหน่วยปฏิบัติมีใคร กระทั่งในสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพก็มีรายชื่ออยู่

โดยสามารถส่งเป็นหลักฐานเพิ่มเติมให้ป.ป.ช.เรียกมาไต่สวนได้ แต่ครั้งนี้ต้องละเอียดมากกว่าเดิม เนื่องจากเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมีหลายเหตุการณ์ ต้องแยกเป็นหมวดหมู่ตามความเกี่ยวข้อง ข้อมูลเหล่านี้มีในสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอหรือเจ้าหน้าที่ สน.ที่ลงสอบสวนพื้นที่ ป.ป.ช.จึงต้องนำพยานหลักฐานรวบรวมไว้

การไต่สวนเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการแสวงหารวบรวมพยานหลักฐาน คดีที่มีคำสั่งไปแล้วถือว่าสามารถขอมาได้หมด แต่ในส่วนของผู้เสียหายจะไม่นิ่งนอนใจจะติดตามเอกสารเหล่านั้นมาให้ป.ป.ช.ได้ด้วย รวมถึงเรื่องพยานบุคคล

ส่วนจะยื่นขอรื้อฟื้นคดีเมื่อไรนั้นต้องขอดูรายละเอียดก่อน ยังไม่ได้กำหนดเวลาที่แน่นอน เพราะถ้านำกระดาษแผ่นเดียวไปยื่น ป.ป.ช.ก็จะไม่มีผล ต้องมีรายละเอียดอย่างอื่นประกอบให้สมบูรณ์ครบถ้วน ซึ่งเอกสารหลักฐานมีจำนวนมาก

ในชั้นแรกอยากเห็นสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ที่ไม่ชี้มูลไปว่าใช้หลักฐานอะไร รวบรวมพยานหลักฐานจากที่ไหนมาบ้าง มีพยานหลักฐานแค่ไหน ได้จาก ศอฉ.มาหรือไม่ หรือว่ายุบ ศอฉ.หมดแล้วพยานหลักฐานหายไปหมด

แต่พยานหลักฐานใหม่คิดว่ามีอยู่แล้วและมากกว่าที่เคยยื่นให้ ป.ป.ช.ครั้งแรก จะมีคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องขึ้นมากขึ้นอีก หลังจากนี้ ป.ป.ช.จะชี้มูลใครที่เรายื่นเข้าไปต้องมีความชัดเจน ซึ่งยังมีความหวังอยู่เพราะศาลฎีกายังไม่ได้พิจารณาลงเนื้อหา พิจารณาเพียงแต่ว่าที่ยื่นฟ้องไปนั้นผิดศาล

ส่วนตัวดูแลคดีนี้มาตั้งแต่ปี 2553 เป็นทนายของคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 เกือบ 20 ราย ตั้งแต่ นายพัน คำกอง ศพแรก คำสั่งส่วนมากที่ศาลสั่งจะพบว่าแนวกระสุนจะมาจากเจ้าหน้าที่ทหารหลายราย ที่หลงยิงจากที่อื่นมีน้อย

ส่วนข้อเสนอให้ผู้เสียหายยื่นต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั้นเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะนำมาพิจารณาถึงความเป็นไปได้ แต่ช่องทางนี้เพื่อตั้งกรรมการไต่สวนอิสระขึ้นมาพิจารณาเรื่องที่ป.ป.ช.ไม่ชี้มูล ถ้าให้ศาลสั่งป.ป.ช.ไต่สวน ป.ป.ช.ก็อ้างว่ามีระเบียบกฎหมายป.ป.ช.ที่ระบุว่าการชี้มูลถ้าทำใหม่ต้องอาศัยอะไรบ้าง เช่น พยานหลักฐานใหม่

แต่มุมที่ศาลชี้คือการกระทำต่างๆ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ หน้าที่ทุกข้อหา ไม่เฉพาะตามมาตรา 157 แต่รวมถึงกระบวนการยุติธรรม หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ก็หมายถึงข้อกล่าวหาฆ่าคนตาย แต่ป.ป.ช.ยังไม่ได้ไต่สวนส่วนนี้

ทุกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง บุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการรื้อคดีและไต่สวนใหม่ ยังมีช่องทางอยู่

 

ธนพร ศรียากูล
นายกสมาคมรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ถ้าดูตามคำพิพากษาศาลฎีกาบอกว่ากรณีนี้เป็นกรณีซึ่งนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ดำเนิน การขณะที่ดำรงตำแหน่ง ดังนั้น กระบวนการรื้อฟื้นในฐานะที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในขณะนั้นก่อให้เกิดความเสียหาย ก็คงต้องใช้จุดเริ่มต้นที่ป.ป.ช. ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา

ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ ป.ป.ช.มีได้หลายเงื่อนไข 1.เป็นกลุ่ม 2.เป็นเดี่ยว และ 3.เป็นหน่วยงานของรัฐก็ได้ ประเด็นนี้ถ้าดูหน่วยงานที่ฟ้อง คืออัยการสูงสุด ดังนั้น อัยการสูงสุดก็ควรปฏิบัติตามคำสั่งตามแนวทางที่ศาลฎีกาวางไว้ คือถ้าเห็นว่ามีสาเหตุที่จะฟ้องได้อัยการสูงสุดก็ควรทำหน้าที่แทนกลุ่มผู้เสียหาย อย่าลืมว่าขณะที่อยู่ในชั้นศาล อัยการสูงสุดก็ทำหน้าที่แทนในการฟ้อง

จึงคิดว่ากรณีนี้เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว ป.ป.ช.ซึ่งเป็นกระบวนที่ริเริ่มก็ควรทำให้กระจ่าง เพราะเหตุการณ์ปี 2553 ต้องยอมรับว่ามีคนเสียชีวิตจริงๆ ถ้าไม่มีการดำเนินการ ก็คิดว่ากระบวนการที่จะสร้างความปรองดองคงไม่เกิดขึ้น เพราะคดีความบางเรื่องจะถูกเลือกสรรว่าเรื่องนี้ควรจะทำให้กระจ่าง แต่บางเรื่องกลับทำให้คลุมเครือ

ดูจากคำพิพากษาจะเห็นว่าศาลยังไม่ได้บอกว่านายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพไม่ได้ทำผิด เพียงแต่บอกว่าขณะที่เกิดการเสียหายขึ้น ทั้งสองคนกระทำตามตำแหน่งหน้าที่ในช่วงเวลานั้น ดังนั้น สถานภาพเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของฝ่ายการเมืองก็ต้องไปเริ่มกับฝ่ายป.ป.ช.

แต่อย่างที่บอกว่าการเริ่มจากป.ป.ช.ก็ทำได้หลายทาง ประชาชนผู้เสียหายไปที่ป.ป.ช. หรืออัยการสูงสุดก็ควรเอาหลักฐานที่ต่อสู้กันในชั้นศาลไปยื่นป.ป.ช.

ส่วนการแยกฟ้องในทางเทคนิคการต่อสู้คดี ผู้รู้ทางกฎหมายคงมีข้อแนะนำ แต่ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้มีผู้เสียหายจำนวนมาก มีการรวบรวมพยานหลักฐาน จึงคิดว่าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถจะเป็นตัวแทนประชาชนได้ โดยรีบเสนอหลักฐานต่างๆ ไปเริ่มที่ป.ป.ช.

ถ้าพูดถึงกระบวนการของศาลฎีกาก็ต้องถือว่าคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่ศาลก็ตัดสินตามข้อกฎหมาย ในเมื่อปรากฏว่าขณะที่เกิดเหตุการณ์ทั้งสองคนดำรงฐานะเป็นนายกฯ กับรองนายกฯ ก็ให้ไปเริ่มกระบวนการกับป.ป.ช.

 

พวงทอง ภวัครพันธุ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ คณะทำงานศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ไม่รับสำนวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่มนปช.ไว้พิจารณา หมายความว่าคดีที่ฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จะฟ้องศาลอาญาไม่ได้อีกต่อไป

คำพิพากษาโดยระบุคดีนี้อยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช.ในข้อกล่าวหากระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ เพราะบุคคลทั้งสองกระทำในขณะดำรงตำแหน่งทางการเมือง

อย่างที่ทราบกันดีว่า มติป.ป.ช.ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร นอกจากเคยยกคำร้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ฐานสลายการชุมนุมกลุ่มนปช.จนมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน แล้ว ป.ป.ช.ก็ดำเนินการไต่สวน แจ้งข้อกล่าวหารัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ และ 34 รัฐมนตรี ฐานอนุมัติเงินเยียวยาญาติผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวโดยมิชอบ

ความพยายามต่อสู้ของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. และทนายความของญาติผู้เสียชีวิต โดยยื่นหนังสือเรียกร้องให้ป.ป.ช.รื้อฟื้นคดีดังกล่าว เพื่อส่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คงหมดหวัง เมื่อพิจารณาจากแนวทางการทำงานของป.ป.ช.ตามที่กล่าวไป

หรือหากป.ป.ช. ทบทวนแล้ว มีมติให้ฟ้องบุคคลทั้งสองต่อศาลอาญานักการเมือง อย่างมากที่สุดก็เพียงแค่ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ข้อหาคงไปไม่ถึงในทางอาญา

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธ คือ กองทัพคือหนึ่งในปัจจัยที่มีบทบาทต่อการสลายการชุมนุม ผู้นำในกองทัพต่างมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์และวางแผน ใช้กลไกรัฐในการปราบปรามผู้ชุมนุม

ความหวังนับจากนี้จึงต้องรอให้บรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป รอให้ระบอบการเมืองแบบเก่าเสื่อมสลายเหมือนอย่างกรณีประเทศอาร์เจนตินา ที่นำไปสู่การรื้อฟื้นคดีที่ทหารมีส่วนสำคัญในเหตุการณ์กลับขึ้นมาไต่สวนใหม่ แต่กว่าจะถึงจุดหมายดังกล่าวก็กินเวลาราว 20-30 ปี

สำหรับการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ อันเป็นขั้นตอนที่ต้องพิสูจน์สำหรับการฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนต่อเหตุรุนแรงนั้น ศาลชี้ว่า 21 จาก 99 ผู้เสียชีวิต เกิดจากกระสุนที่มาจากทิศทางฝั่งเจ้าหน้าที่ และทั้ง 21 ศพไม่พบอาวุธ หนึ่งในนั้นรวมถึง นายฟาบิโอ โปแลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี

แต่จะมีผลในทางกฎหมายให้อัยการหรือญาติผู้เสียหายใช้ฟ้องเองต่อไป หรือต้องมีการดำเนินการไต่สวนชันสูตรพลิกศพต่อไปจนครบทุกรายหรือไม่นั้น ต้องรอดูความเห็นจากนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญคดีอาญาอีกครั้ง

ส่วนความเป็นไปได้ถึงการนำคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช.ขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) นั้น ตอบได้ว่า ไม่มีทาง รัฐบาลไทยยังไม่เคยลงนามให้การรับรองขอบเขตอำนาจศาลนี้ ซึ่งเขาจะสามารถเข้ามาได้ก็ต่อเมื่อมีการลงนาม

ส่วนนี้ถือเป็นความผิดพลาดอย่างหนึ่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ละเลยการต่อสู้ในแง่หลักการ โดยเฉพาะการสถาปนาระบบกฎหมายให้มั่นคง มิเช่นนั้น นี่จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ทวงถามความยุติธรรมในการสลายการชุมนุมกลุ่มนปช.ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน